นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เลขา ป.ป.ช. ออกมาแก้ตัวว่ารายการหนี้สินที่ ป.ป.ช. กำหนดให้แสดงในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินประกอบด้วย (1) เงินเบิกเกินบัญชี (2) เงินกู้จากธนาคาร/สถาบันการเงิน(3) หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และ (4) หนี้สินอื่น ส่วนการยืมนาฬิกาไม่ต้องนำมาแสดงในบัญชีเพราะเป็นการยืมใช้คงรูปที่กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของผู้ให้ยืม หนี้ตามสัญญายืมใช้คงรูปจึงไม่ได้กำหนดไว้ในแบบบัญชีที่ต้องแสดงต่อ ป.ป.ช.
การยืมไม่ว่าจะเป็นยืมใช้คงรูปหรือยืมใช้สิ้นเปลืองล้วนเป็นนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ก่อให้เกิดหนี้ระหว่างคู่สัญญา โดยผู้ให้ยืมมีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมให้กับผู้ให้ยืม หน้าที่ดังกล่าวคือ “หนี้” ตามกฎหมายอันถือเป็นหนี้สินอื่นตามที่ระบุไว้ในแบบของ ป.ป.ช. แล้ว ส่วนข้ออ้างที่ว่ากรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้ยืมก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ เพราะกฎหมายกำหนดให้แสดงหนี้สินโดยไม่มีข้อยกเว้น
เจตนารมณ์ในการกำหนดให้ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็เพื่อการตรวจสอบ แต่หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกฎหมายกำหนดให้เปิดเผยบัญชีต่อสาธารณะด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สาธารณชนได้ช่วยตรวจสอบอีกทางอันเป็นมาตรการในทางป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ การปล่อยให้บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินที่มีราคาสูงแต่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงไว้ในบัญชีก็คือการอำนวยความสะดวกให้กับการทุจริตนั่นเอง
ป.ป.ช. มีชื่อเต็มคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงย่อมมีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตด้วย การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินถือเป็นมาตรการในการป้องกันการทุจริต แต่ ป.ป.ช. กลับทำตัวเสมือนเป็นคนดูต้นทางให้โจรด้วยการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตเสียเองจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการทำงานขององค์กรอิสระให้มีความรับผิดชอบต่อประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :