วันที่ 9 ส.ค. 2566 ที่รัฐสภา สส.พรรคก้าวไกล นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมแถลงข่าวเสนอร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ จำนวน 3 ชุด รวม 9 ฉบับ ได้แก่ ชุดกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น 4 ฉบับ ชุดกฎหมายป้องกันการทุจริต 2 ฉบับ และชุดกฎหมายโอบรับความหลากหลาย 3 ฉบับ โดยมีตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับเอกสาร
พริษฐ์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเตรียมชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศไว้ทั้งหมด 14 ชุด สอดคล้องกับ 300 นโยบายที่พรรคได้เสนอต่อประชาชน โดยเมื่อ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ยื่นต่อสภาไปแล้วจำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ และชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด รวม 7 ร่าง
สำหรับความคืบหน้าของร่างที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ ได้รับแจ้งว่าจำนวน 2 จาก 7 ร่าง อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวด้วยการเงิน ที่ต้องส่งให้นายกฯ รับรองก่อนบรรจุเข้าระเบียบวาระ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร ที่จะนำไปสู่การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร และ ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่จะนำไปสู่การยุบ กอ.รมน. แม้ สส.พรรคก้าวไกลหลายคนเคยแสดงออกก่อนหน้านี้ว่าไม่เห็นด้วยกับกลไกนี้ แต่หากพยายามทำความเข้าใจเจตนาของกลไกนี้ จะเห็นว่าเจตนาหลักคือการเขียนกติกาเพื่อไม่ให้สภาผ่านกฎหมายที่ไปผูกมัดฝ่ายบริหารเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ
เมื่อคำนึงถึงเขตนาดังกล่าว จึงหวังว่าจะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่นายกฯ ไม่รับรอง 2 ร่างดังกล่าว ด้วย 2 เหตุผล เหตุผลที่หนึ่งคือเนื้อหาสาระ ไม่ได้มีอะไรผูกมัดการจัดสรรงบประมาณของฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นร่างเสนอให้ยุบ กอ.รมน. ซึ่งน่าจะเป็นการลดภาระงบประมาณของฝ่ายบริหารด้วยซ้ำ ส่วนร่างยกเลิกเกณฑ์ทหาร ก็ไม่แน่ชัดว่าจะเพิ่มภาระงบประมาณเสมอไป เพราะแม้มีมาตราที่ขอให้ฝ่ายบริหารทบทวนค่าตอบแทน สวัสดิการของพลทหารให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและภาระงานมากขึ้น แต่อีกข้อเสนอหนึ่งคือการลดจำนวนกำลังพลที่กองทัพขอเกินกว่าที่จำเป็นในการรักษาความมั่นคง จึงไม่ปรากฏชัดว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารจะเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณ
เหตุผลที่สอง หากพิจารณาจังหวะในการยื่นร่าง แม้ขณะนี้นายกฯรักษาการอาจมีอำนาจเชิงกฎหมายในการตีความว่าจะรับรองร่าง พ.ร.บ. การเงินเหล่านี้หรือไม่ แต่ตนหวังว่าจะไม่ใช้อำนาจดังกล่าวไปผูกมัดหรือขัดขวางเจตจำนงของรัฐบาลใหม่ และหากนายกฯ รักษาการกังวลว่าสภาจะผ่านกฎหมายที่ผูกมัดรัฐบาลใหม่หรือไม่ ก็ขอคลายข้อกังวลนี้ด้วยการชี้แจงว่าท้ายสุดแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ต้องประกอบไปด้วยพรรคการเมืองที่มีตัวแทนในสภาอยู่แล้ว หากกฎหมายนี้ถูกพิจารณาในสภา สส. ของแต่ละพรรคก็สามารถใช้ดุลพินิจตัดสินใจก่อนลงมติได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกฎหมายและนโยบายดังกล่าวหากเข้ามาเป็นรัฐบาล ดังนั้น จึงหวังว่านายกฯ รักษาการจะไม่ใช้อำนาจดังกล่าวในการขัดขวางร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้
พริษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนวันนี้ พรรคก้าวไกลเดินหน้าเสนอชุดกฎหมายเพิ่มอีก 3 ชุด จำนวน 9 ร่าง ประกอบด้วย ชุดปลดล็อกท้องถิ่น 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางบก, ร่าง พ.ร.บ. ถนน, ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ชุดป้องกันการทุจริต 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ร.บ. และ ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน และชุดโอบรับความหลากหลาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างสมรสเท่าเทียม, ร่าง พ.ร.บ. การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
ด้านธัญวัจน์ ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้การตั้ง ครม. ไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็น และส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่ค้างพิจารณาจากสภาชุดที่แล้ว และต้องยืนยันภายใน 60 วันหลังจากที่มีการเปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งคือภายต้นเดือนกันยายนนี้ หากไม่มีการยืนยันเสนอร่างสมรสเท่าเทียม ก็จะทำให้ร่างตกไป ดังนั้นการยื่นกฎหมายในวันนี้ จึงเป็นการทำคู่ขนานเพื่อลดความเสี่ยงจากการเมืองที่ไม่แน่นอน
ขณะที่ มานพ ในฐานะประธานเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในสภาชุดแล้วพรรคได้เสนอร่างกฎหมายและถูกตีความว่าเป็นร่างการเงิน ทำให้ในสมัยสภานี้ พรรคก้าวไกลได้แก้ไขปรับปรุงและเสนอกฎหมายต่อรัฐสภาอีกครั้ง ขณะที่เลาฟั้ง กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 9 สิงหาคม เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล จึงถือโอกาสสำคัญนี้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเข้าถึงโอกาสของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง