นางประพันธ์ พิพัธนัมพร ผู้ถูกทางการไทยดำเนินคดีจากการสวมเสื้อสีดำ ติดสัญลักษณ์ 'สหพันธรัฐไท' และแจกใบปลิวข้อมูลที่นำมาจากเว็บไซต์ยูทูบ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2561 ได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียและลงทะเบียนขอสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR แต่กลับถูกทางการมาเลเซียจับกุมเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2562 อ้างอิงการออกหมายจับของทางการไทย จากนั้นนางประพันธ์ได้ถูกส่งตัวกลับไทยโดยไม่สมัครใจเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา
องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ หรือ HRW ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 13 พ.ค. ระบุว่า การกระทำของทางการมาเลเซียเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ซึ่งมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศภาคีที่ต้องยึดมั่นในหลักการไม่ส่งกลับ แต่นางประพันธ์กลับถูกส่งตัวกลับไปรับโทษซึ่งเกิดจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ทั้งนี้ นางประพันธ์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นบุคคลที่อาจเข้าข่าย 'ผู้ลี้ภัย' ตามเงื่อนไขของยูเอ็นเอชซีอาร์ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.2562 ซึ่งมาเลเซียจะต้องเคารพหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการไม่ส่งตัวนางประพันธ์กลับมายังไทย เพราะอาจสุ่มเสี่ยงต่อการลงโทษ ทรมาน หรือตกเป็นเป้าในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของ HRW ระบุว่า สหประชาชาติและรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ใส่ใจประเด็นสิทธิมนุษยชนควรแสดงท่าทีต่อการปราบปรามผู้เห็นต่าง รวมถึงการบังคับให้สูญหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้แถลงการณ์ของ HRW ระบุว่า นางประพันธ์เป็นผู้ลี้ภัยการเมืองรายที่ 4 ซึ่งถูกรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งตัวให้กับรัฐบาลไทย
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าผู้ลี้ภัยชาวไทย 3 รายในเวียดนามที่เกี่ยวข้องกับคดีสหพันธรัฐไท คือ นายชูชีพ ชีวสุทธิ์ นายสยาม ธีรวุฒิ และนายกฤษณะ ทัพไทย ถูกทางการเวียดนามจับกุมและส่งกลับไทยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. แต่ทางการไทยระบุว่า ไม่เคยได้รับแจ้งว่ามีการจับกุมและส่งตัวผู้ลี้ภัยทั้งสามราย ทั้งยังไม่มีผู้ใดทราบชะตากรรมของคนทั้งสามอีก แต่กรณีของนางประพันธ์ มติชนออนไลน์รายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งระบุว่า จับกุมนางประพันธ์ได้ที่สนามบินดอนเมือง ขณะเดินทางกลับจากต่างประเทศ
ส่วนกรณีของนายชูชีพ นายสยาม และนายกฤษณะ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทั้งหมดเคยพำนักอยู่ในลาว นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในไทยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 และรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐบาล จนกระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่ากลุ่มสหพันธรัฐไทเป็นเครือข่ายก่อการร้ายเมื่อเดือน ก.ย.2561 ทั้งยังขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับประเทศ ทำให้นายชูชีพ นายสยาม และนายกฤษณะ พยายามหลบหนีไปยังเวียดนาม แต่ถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเข้าเมืองและปลอมแปลงพาสปอร์ตเสียก่อน
แม้จะมีรายงานว่าพวกเขาทั้งสามคนถูกส่งตัวกลับไทย แต่หน่วยงานของไทยยืนยันว่าไม่ได้รับแจ้งหรือประสานงานส่งตัวผู้ถูกจับกุมจากทางเวียดนาม ทั้งยังปฏิเสธความเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ยืนยันว่า 'สิทธิพลเมืองและสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง' เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเรือนในแต่ละประเทศ ตราบใดที่การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองดำเนินไปอย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรง
นอกจากนี้ ก่อนจะเกิดกรณีผู้ลี้ภัยไทยในเวียดนามหายตัวไป มีกรณีพบศพผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยในประเทศลาวถูกนำมาทิ้งในแม่น้ำโขงเมื่อเดือน ธ.ค.2561 รวม 2 ราย ได้แก่ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ ซึ่งเป็นคนสนิทของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ 'สุรชัย แซ่ด่าน' กลุ่มแดงสยาม และคาดว่า นายสุรชัยอาจเป็นศพที่ 3 ที่มีผู้พบเห็นอยู่ในแม่น้ำโขงในเวลาไล่เลี่ยกับที่่พบ 2 ศพแรก แต่ต่อมาได้สูญหายไป
การหายตัวไปของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลและผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไทย เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 โดยผู้ลี้ภัยการเมืองที่หายตัวไปก่อนหน้านี้ รวมถึงนายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ และนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: