นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ของบริษัทพลังงานมหานคร จำกัด เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,092 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นโครงการลงทุนแห่งแรกในกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของภาคเอกชนที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ซึ่งปัจจุบันค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลก ได้ให้ความสนใจ และวางแผนจะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยตามแผนของการขับเคลื่อนด้านพลังงาน และส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคันภายในปี 2564
โดยปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ เช่น ขสมก. กฟน. กฟผ. และปตท. จัดให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงโครงการนำร่องสำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าในหน่วยงาน
ดังนั้นการลงทุนของบริษัทครั้งนี้ มีแผนกระจายการจัดตั้งสาขาสถานีบริการทั่วประเทศ มากกว่า 3,000 หัวจ่าย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น นอกจากจะเป็นการบริการและอำนวยความสะดวก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้รถ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้บริษัทรถยนต์ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
นายโชคดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้คณะอนุฯ ยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท ดีทีเอส แดร็คเซิลไมเออร์ ออโท โมทีฟ ซีสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนกว่า 542 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของระบบขับเคลื่อน ต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัย และมีกระบวนการผลิตเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้นอกจากการลงทุนในกิจการครั้งนี้แล้ว บริษัทยังวางแผนจัดฝึกอบรมและส่งพนักงานคนไทยไปต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและการประกอบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่อีกด้วย
บีโอไอประกาศให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการรถยนต์ไฟฟ้า ครอบคลุมทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือปลั๊กอินไฮบริด (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) รวมถึงกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์ของโลก
ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ แล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ ปลั๊กอินไฮบริด ได้แก่ เมอร์เซเดสเบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู เป็นต้น