เมื่อความงามกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต จนคนส่วนหนึ่งยอมที่จะแลกการกินอิ่มเพื่อมาประทินโฉมตัวเอง ก็คงไม่แปลกที่ธุรกิจนี้จะรุ่งเรืองยืนหนึ่งอยู่เหนือทุกวิกฤตเศรษฐกิจ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2559 พบว่า ธุรกิจเสริมสวยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยมีประมาณ 120,000 ร้าน และมีมูลค่าทางการตลาดรวมกันถึง 60,000 ล้านบาท/ปี อีกทั้งอัตราการเติบโตของธุรกิจร้านเสริมสวยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2558 - 2562 ในระดับร้อยละ 3.4
'สมศักดิ์ ชลาชล' นายกสมาคมวิชาชีพช่างผมไทย กล่าวว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันคือการต้องการเป็นที่รู้จัก ต้องการเป็นที่สนใจ ซึ่งการมีบุคลิกภาพที่ดีจะช่วยส่งเสริมความต้องการเหล่านั้นได้ และร้านเสริมสวยเองในฐานะผู้ให้บริการก็ได้รับอานิสงส์ตรงนั้นเต็มๆ
"อาชีพช่างเสริมสวย ไม่ว่าจะมีเศรษฐกิจไม่ดีอย่างไร เรารอด" สมศักดิ์ กล่าว
สู้ที่ฝีมือไม่ใช่ราคา
แม้ธุรกิจนี้จะยังเติบโตได้ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการหรือช่างไม่จำเป็นต้องปรับตัว 'สมศักดิ์' ย้ำว่า การพัฒนาธุรกิจร้านเสริมสวยนั้นจำเป็นต้องต้องพัฒนาทั้งทักษะการทำผมรวมไปถึงคุณภาพของการให้บริการ
'สมศักดิ์' ชี้ว่า ในมิติหนึ่ง ร้านทำผมก็เปรียบเสมือนสถานที่บรรเทาทุกข์ให้กับผู้ใช้บริการ เนื่องจากลูกค้าหลายคนที่เผชิญกับปัญหาหรือความทุกข์ต่างๆ ก็มักจะมองว่าร้านทำผมเป็นทางออก มองว่า 'การตัดผมอาจช่วยให้เป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ' ตามหลักทางจิตวิทยา
ขณะเดียวกัน 'ไกรวิทย์ พุ่มสุโข' ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์สมาคมวิชาชีพช่างผมไทย ชี้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการร้านเสริมสวยไทยในปัจจุบันว่า ด้วยจำนวนร้านทำผมที่มีกว่าแสนร้าน ทำให้เกิดการแข่งขันสูง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันนี้กลับไม่ใช่การแข่งขันที่ตลาดหรือผู้บริโภคได้ประโยชน์เพราะไม่ใช่การแข่งขันที่คุณภาพและฝีมือ แต่กลับเป็นการตัดราคากันเองซึ่งทำให้มาตรฐานของอาชีพต่ำลง
'ไกรวิทย์' มองว่า หากวงการนี้อยากจะพัฒนาไปข้างหน้า ก็อยากให้หันไปมองช่องทางการโปรโมตสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อีกทั้งยังแนะว่าการให้บริการโดยคิดราคาแบบเหมา (package) น่าจะเหมาะกับนิสัยผู้บริโภคสมัยนี้มากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วยังไงธุรกิจนี้ก็ยังมีความต้องการจากผู้บริโภคอยู่อีกมาก โดยเฉพาะที่มาจากเทรนด์ความงาม
"ความสวยงามในปัจจุบันเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว จะบอกว่าไม่จำเป็นก็ไม่ได้" ไกรวิทย์ กล่าว
ล่าสุด 'วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะของฝั่งรัฐบาลออกมาจัดการเปิดอบรมหลักสูตรการบริหารธุรกิจเสริมสวย เพื่อหวังเสริมสร้างประสิทธิภาพของผู้ประกอบการให้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการสอนหลักสูตรช่างทำผม แต่งหน้า ทำเล็บ และเสริมความงามให้กับช่างที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมด้วย
สถานการณ์ปัจจุบันที่ทั้งฝั่งคนในวงการและผู้กำกับนโยบายเห็นตรงกันคือศักยภาพในการเติบของธุรกิจเสริมความงามนี้ อย่างไรก็ตาม การมีเพียงอุปสงค์จากผู้บริโภคอย่างเดียวไม่เพียงพอจะผลักดันการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ฝั่งช่างทำผมก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องออกมาตรการกำกับดูแลในกรอบที่ไม่ไปขัดขวางการเติบโต แต่ก็ไม่ปล่อยให้ตลาดแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค