ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 ยกเว้น จ.สมุทรสาคร ส่วนโรงเรียนในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล แต่ละห้องเรียนต้องมีนักเรียนไม่เกิน 25 คน หากห้องเรียนไม่เพียงพอ ให้สลับวันเรียน ด้าน 'ณัฏฐพล' ย้ำทุกโรงเรียนต้องดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19

กระทรวงศึกษาธิการ มีคำสั่งประกาศเรื่อง การเปิดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ภายหลังจากได้มีประกาศให้ปิดสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ใน 28 จังหวัด โดยประกาศดังกล่าวให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการเรียนการสอนตามปกติตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ส่วนโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาคร ยังต้องปิดการเรียนการสอนต่อไป เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และให้ใช้แนวทางจัดการเรียนการสอนแบบทางไกล หรือวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ สถานศึกษาอาจจัดการเรียนการสอนโดยใบสั่งงาน หรือมอบหมายงานตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน

สำหรับโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี) ให้เปิดการเรียนการสอนได้ โดยแต่ละห้องเรียนต้องมีนักเรียนไม่เกิน 25 คน กรณีห้องเรียนไม่เพียงพอ ให้จัดการเรียนการสอนด้วยการสลับวันเรียน ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรการของหน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด

143539114_257935342491464_1103130165950000203_o.jpg



ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอย้ำว่าโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศจะต้องดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดตามหลักของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ รักษาระยะห่าง งดกิจกรรมที่ต้องรวมตัวกันจำนวนมากหรือในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทำความสะอาดพื้นที่ของโรงเรียนบ่อยๆ เพราะการดูแลในโรงเรียนจะเป็นการชะลอการติดเชื้อในเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นการควบคุมการระบาดในชุมชนนอกโรงเรียนได้ด้วย จากการผ่านสถานการณ์ในรอบแรก

ผมมั่นใจว่าผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน รวมไปถึงผู้ปกครองเข้าใจในการดูแลเด็กๆ ของเราเป็นอย่างดี ขอขอบคุณความใส่ใจของโรงเรียนและครอบครัว ทางกระทรวงศึกษาธิการจะติดตามสถานการณ์หลังเปิดโรงเรียนอย่างใกล้ชิดและจะทำทุกทางเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนของเราให้สามารถเรียนรู้ได้ตามปกติและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19


สธ.ยังไม่พบข้อมูลการติดเชื้อจากครูสู่นักเรียน

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเปิดเรียนรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 มีผู้ติดเชื้อกลุ่มอายุ 0-18 ปี จำนวน 278 ราย โดยในระลอกแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ธ.ค. 2563 มีการติดเชื้อ 207 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ส่วนระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2563 ถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 71 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ ส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัว สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่พบข้อมูลการติดเชื้อจากครูสู่นักเรียน

นพ.สราวุฒิ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีข้อเสนอให้สถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ยกเว้นจังหวัดสมุทรสาครที่ยังให้ปิดเรียนต่อ ส่วนพื้นที่ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และปทุมธานี ให้เปิดการเรียนการสอนตามแนวทางป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อปฏิบัติ 4 มาตรการ ดังนี้

1.เตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน ให้มีความปลอดภัย ลดการแพร่กระจายเชื้อ

2.โรงเรียนประเมินตนเองก่อนเปิดเรียนผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID 

3.ยกระดับมาตรการความปลอดภัย ใช้ 6 มาตรการหลัก คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด และ 6 มาตรการเสริม คือ ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนไทยชนะ สำรวจความเสี่ยงของนักเรียนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และกักกันตนเอง 14 วันนับจากการสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด

4.การกำกับติดตามและประเมินผลร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข โดยมีจิตอาสาผู้พิทักษ์อนามัยโรงเรียนทุกจังหวัดช่วยดูแลความปลอดภัย

นพ.สราวุฒิกล่าวต่อว่า การเปิดเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดยังต้องคำนึงถึงเรื่องระยะห่างและลดความแออัด โดยจำนวนนักเรียนต่อห้องต้องมีความเหมาะสม และมีการระบายอากาศอย่างดี ควรปิดเครื่องปรับอากาศและระบายอากาศทุก 2 ชั่วโมง รวมทั้งมีคู่มือสำหรับโรงอาหารและร้านอาหารที่ต้องปฏิบัติตาม อาหารต้องปรุงสุก ผู้สัมผัสอาหาร แม่ครัว ต้องตรวจสอบความเสี่ยงของตนเอง ถ้าเสี่ยงติดเชื้อต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่สัมผัสอาหารโดยตรง จัดที่นั่งรับประทานอาหารเว้นระยะห่าง ทำความสะอาดพื้นที่สัมผัสร่วมบ่อยๆ ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน


วอนภาครัฐรอบคอบเปิดเรียนพื้นที่เสี่ยง

เมื่อ 27 ม.ค. 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หารือสภาผู้แทนราษฎร ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง ถึงการเปิดโรงเรียน ใน 28 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยระบุว่า การเปิดเรียนในระดับของเด็กๆ ชั้นนี้ มีข้อดีในการทำให้เด็กๆ ได้กลับมาเรียนและเล่นกับเพื่อน ๆ ตามปกติ และยังช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ผู้ปกครองได้ แต่หากพิจารณาอีกแง่มุมนึง จะพบว่ายังมีข้อกังวลที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย คือ ธรรมชาติของเด็ก ที่มักจะชอบนำมือไปลูบหน้าลูบตา บางครั้งเอาเข้าปาก เข้าจมูก เล่นกันอย่างใกล้ชิด โดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันโรค ตามธรรมชาติของเด็กซึ่งยังมีวุฒิภาวะไม่มากพอ ดังนั้นการดูแลเด็กๆ ในวัยนี้ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ก็จะเป็นหน้าที่ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นคุณครูหรือพี่เลี้ยงก็ตาม ที่จะต้องเฝ้าระวังเด็กๆ ทุกคนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ปลอดภัยจากโรค โควิด-19 แม้จะขอให้โรงเรียนปฏิบัติตามมาตรการ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แต่คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ โรงเรียนมีบุคลากรและให้ความใส่ใจที่เพียงพอในการดูแลเด็กๆ ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่