เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอเนื้อหาที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป แสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา
ในช่วงที่การเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังร้อนแรง ศิลปินหลายคนร่วมรณรงค์ #BlackLivesMatter ผ่านทางอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติกับคนที่สีผิวต่างกัน ขณะเดียวกันในประเทศไทยก็มีศิลปินอีกหลายคนที่ตื่นตัวกับกระแสข่าว ‘นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมที่โดนอุ้มหายตัวไปในประเทศกัมพูชาจนเกิดเป็น #Saveวันเฉลิม ที่ถูกพูดถึงมากในทวิตเตอร์
โดยทวิตเตอร์และเพจแฟนคลับของวง BTS ศิลปินบอยแบนด์เกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้ติดตาม 364,000 คน และ 400,000 คนตามลำดับ มีการสำรวจความคิดเห็นลูกเพจเพื่อที่จะใช้พื้นที่ทั้งในเฟซบุ๊กแฟนเพจและทวิตเตอร์ ‘BTS Thailand’ โพสต์เกี่ยวกับประเด็นสังคมบ้างเป็นครั้งคราว เช่น ประเด็น Black Lives Matter, การคัดค้าน CPTPP, และการอุ้มหายของนายวันเฉลิม ซึ่งผลสำรวจปรากฏว่า ผู้ติดตามในเฟซบุ๊ก 93 เปอร์เซ็นต์ จากผู้ร่วมโหวตกว่าหนึ่งหมื่นคน "เห็นด้วย"
ขณะที่ผู้ติดตามในทวิตเตอร์ 96 เปอร์เซ็นต์ จากผู้ร่วมโหวตกว่าสองหมื่นคน ก็ต่างระบุว่า "เห็นด้วย"
“สวัสดีค่ะ มีเรื่องจะมาสอบถามอาร์มี่ทุกคนที่ติดตามเพจนี้อยู่ค่ะ ก่อนหน้านี้เราได้โพสต์เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมอย่างเรื่อง Black Lives Matter และโพสท์เรื่องการคัดค้าน CPTPP (โพสต์ในทวิตเตอร์ไม่ได้โพสต์ในเพจ) และล่าสุดเรื่องการอุ้มหายของคุณวันเฉลิม (โพสต์ในทวิตเตอร์ไม่ได้โพสต์ในเพจ)
เราจึงอยากสอบถามอาร์มี่ทุกคนที่ติดตามเพจนี้อยู่ว่า หากเราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ "บ้างเป็นบางครั้ง" เรื่องการเป็นกระบอกเสียงในประเด็นทางสังคมต่างๆ แต่เพราะเราทำบ้านเบสศิลปินมันคือการอัปเดตข่าวสาร และมันเป็นพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับใครหลายๆ คน ซึ่งอาจจะอยากรับสารเฉพาะเรื่องของบังทัน แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ก็อยากจะใช้พลังตรงนี้ เพื่อช่วยเหลือสังคม ตามเจตนารมณ์ของบังทันที่มักทำงานเพื่อสังคมเสมอๆ
เลยอยากจะสอบถามความคิดเห็นผู้ติดตามทุกคนเลยค่ะ ว่าเห็นด้วยมั้ย ที่บางครั้งเราจะนำเสนอประเด็นทางสังคมบ้าง เราอยากจะทำ แต่เราก็กังวลใจ ว่ามันเป็นการใช้พื้นที่ผิดประเภทหรือเปล่า ยังไงรบกวนโหวตกันหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ”
">ขออนุญาตถามตามตรงนะคะ อาร์มี่โอเคมั้ย หากเราจะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นบางครั้ง เรื่องการเป็นกระบอกเสียงในประเด็นทางสังคมต่างๆ เพราะเราทำบ้านเบสศิลปินมันคือการอัพเดตข่าวสาร และมันเป็นพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับใครหลายๆคน แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ก็อยากจะใช้พลังตรงนี้ เพื่อช่วยเหลือสังคมค่ะ
— BTS Thailand ⁷ (@BTS_Thailand) June 5, 2020
นอกจากนี้ทวิตเตอร์บ้านแฟนคลับย่อยของวง BTS อย่าง @JHOPE_TH @SUGA_th @JustmeJIMIN และ @seokjin_th ก็กระจายข่าวและโพสต์ข้อความในประเด็นสังคมเช่นเดียวกับทวิตเตอร์ของบ้านหลัก โดยย้ำว่าเป็นการโพสต์ข้อความและแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ
ขณะเดียวกันฝั่งตัวศิลปินเองก็เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางจาก แฮชแท็ก #บ่นเพื่อน ที่ 'แก้ม' วิชญาณี เปียกลิ่น นักร้องดัง ทวีตข้อความผ่าน @gamthestar ในเชิงบ่นลอยๆ ถึงเพื่อนที่สร้างความรำคาญให้กับตนเองด้วยการทำกิจกรรมไม่สร้างสรรค์บางอย่างจนล้ำเส้น แต่ทำให้หลายคนนำไปเชื่อมโยงกับ #Saveวันเฉลิม วิจารณ์เรื่องการเพิกเฉยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการขุดทวีตเก่าๆ ที่เธอเคยโพสต์มาวิจารณ์
ประกอบกับที่นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มาคอมเมนต์วิจารณ์ทวีตดังกล่าวของ 'แก้ม' วิชญาณี ก็ยิ่งทำให้แฮชแท็กนี้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในช่วงกลางคืนของวันที่ 5 มิถุนายน นำไปสู่การถกเถียงกันเรื่องการแสดงความเห็นทางสังคมและการเมืองของศิลปินดารา
“บางคนพอกักตัวนานหน่อยอยากมีซีน หาทำแต่อะไรไม่สร้างสรรค์ กิจกรรมเยอะแยะเลยนะเอาดีๆ ที่แบบบันเทิงตนเองต่างๆ ไม่เดือดร้อนคนอื่นอะค่ะเพื่อน ความเกรงใจอะนะคะเพื่อน มันสำคัญนะคะ ล้ำเส้นไปน่าลำไยจะตายไปค่ะเพื่อน #บ่นเพื่อน อย่าให้บ่นบ่อยๆ นะคะ ไม่ได้อยากเป็นคนขี้บ่นค่ะ 5555”
">บางคนพอกักตัวนานหน่อยอยากมีซีน หาทำแต่อะไรไม่สร้างสรรค์ กิจกรรมเยอะแยะเลยนะเอาดีๆ ที่แบบบันเทิงตนเองต่างๆไม่เดือดร้อนคนอื่นอะค่ะเพื่อน ความเกรงใจอะนะคะเพื่อน มันสำคัญนะคะ ล้ำเส้นไปน่าลำไยจะตายไปค่ะเพื่อน #บ่นเพื่อน อย่าให้บ่นบ่อยๆนะคะ ไม่ได้อยากเป็นคนขี้บ่นค่ะ 5555
— Real Gam Wichayanee (@gamthestar) June 5, 2020
'ใบเฟิร์น - อัญชสา มงคลสมัย' นักแสดงสาว ท่ี่แสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ @b1f3rn อยู่บ่อยครั้ง บอกว่า การแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองของศิลปินเป็นเรื่องที่ 'ควรเป็นเรื่องปกติ' เพราะไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ควรมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางสังคม หรือเรื่องใดก็ตาม เพราะทุกคนมีความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งอาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ทุกคน ทุกอาชีพควรมีเหมือนกัน
อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเรื่องของเสรีภาพ แต่ควรอยู่ในกรอบของศีลธรรมและกฎหมาย ถ้าสิ่งที่เราพูดไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ทำได้
เมื่อถามว่าแล้วการแสดงความเห็นดังกล่าวกระทบต่อความนิยมของแฟนคลับหรือการงานหรือไม่
เธอตอบว่า ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ แต่หากมีคนไม่ถูกใจกับการแสดงความคิดเห็นของเธอบ้างจนถึงขั้นเลิกติดตามก็ต้องทำใจ เพราะคิดว่าจะยังรักษาสิทธิตัวเองโดยการแสดงความคิดเห็นต่อไป และถ้าใครจะเลิกชอบเรา เราก็ต้องเคารพตรงนั้น
เมื่อถามต่อถึงกรณีที่ศิลปินหลายคนเลือกที่จะรณรงค์สิทธิมนุษยชนในต่างชาติแต่กลับเพิกเฉยประเด็นนี้ในประเทศไทย
ใบเฟิร์น กล่าวว่า ไม่อยากพูดถึงคนอื่นเพราะเคารพในสิทธิของเขาที่จะพูดหรือไม่พูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเลือกที่จะไม่พูดเพราะกลัวกระทบกับงาน ก็อยากให้ทัศนคตินี้เปลี่ยนไป เพราะอยากให้คนแยกเรื่องของงานกับเรื่องส่วนตัวออก แล้วทำให้การวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องปกติได้ในประเทศเรา
ด้าน ‘ฟิล์ม - รัฐภูมิ โคตงทรัพย์’ นักร้องและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองว่า ก่อนที่จะมาทำงานการเมืองหรือแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนก็มีแต่คนห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวเพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว เตือนให้ร้องเพลงและทำงานบันเทิงของตัวเองต่อไปดีแล้ว แต่เมื่อวันที่ตนก้าวมาสู่การเมือง ตนกลับเห็นว่ามีข้อดีและตัวเองก็ไม่ได้เสียอะไรไป
หลายคนไม่เคยรู้จักตัวตนเราจริงๆ พอได้รู้จักได้เห็นอุดมการณ์ทางการเมืองว่าเป็นคนรักประชาธิปไตย รักพระมหากษัตริย์ ไม่ชอบความไม่เที่ยงตรง ความไม่เป็นกลาง สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้มีคนที่รักเรามากขึ้น มีคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาสนับสนุนเรามากขึ้น แม้ว่าจะคนส่วนหนึ่งจะเลิกติดตาม ด่า หรือวิจารณ์เรา แต่พอรวมแล้วก็จะเห็นว่าคนรักเราเพิ่มขึ้น และคนที่ไม่รักเราแล้ว มีจำนวนเท่าเดิม
ฟิล์ม รัฐภูมิ เห็นว่า การแสดงความเห็นในเรื่องสังคมหรือการเมืองเกิดจากตัวตนของคนๆ นั้น จริงๆ เช่น รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ที่ร่วมรณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นเรื่องที่เขาอินหรือให้ความสนใจจริงๆ ในทางตรงกันข้ามตนก็เห็นใจ ศิลปินหลายคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมไม่โพสต์เรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือแสดงความเห็นประเด็นโน้นนี้ ตนเห็นว่าศิลปินแต่ละคนก็มีช่องทางที่จะสื่อสารความเห็นตัวตนของเขาไปยังแฟนคลับ เปรียบเสมือนร้านค้าที่ขายของอย่างหนึ่ง จะมาบังคับกันให้ขายของอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ และร้านที่พวกเขาสร้างขึ้นมา กว่าจะเป็นทุกวันนี้ก็ยากลำบาก คนที่ติดตามเขาก็แสดงว่าอยากเห็นในสิ่งที่เขาเป็น เขาต้องดูแลภาพลักษณ์ เขาสนใจเรื่องการแต่งหน้า หรือประเด็นรักษ์โลก ก็เป็นสิทธิของเขา เราจะไปบงการชีวิตใครไม่ได้
ส่วนกรณีที่หาก "กลุ่มแฟนคลับ" จะใช้ช่องทางแฟนเพจสื่อสารประเด็นสังคมและการเมือง
อดีตดาราหนุ่ม บอกว่า เป็นสิทธิของแอดมินเพจนั้นๆ เพราะห้องที่สร้างขึ้นมารวบรวมคนที่มีความชอบเหมือนกัน หรืออุดมการณ์เหมือนกัน คุยในเรื่องเดียวกันได้ และถือเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำถ้าจะมีการพูดถึงสาระอื่นๆ แต่ต้องระวังว่าสิ่งที่พูดกันหรือโพสต์ต้องมีความถูกต้อง เป็นกลาง ไม่ปลุกระดม และสุภาพ ไม่เช่นนั้นอาจจะผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือถูกตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งนี้หากดูจากหลายตัวอย่างที่เป็นกระแสในทวิตเตอร์ก็เกิดจากการใช้อารมณ์และคำพูดที่รุนแรงจนคนที่ไม่พอใจมาถล่ม แต่ถ้าโพสต์ด้วยความสุภาพและถูกต้อง ถึงคนที่อ่านจะไม่พอใจแต่ก็จะไม่เปิดช่องให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันจนเป็นเรื่องใหญ่โต