กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม หมายเลข 3 เปิดเผยถึงกรณีที่ ฮาฟิส ยะโกะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.นราธิวาส หมายเลข 6 พรรคเป็นธรรม ได้ร้บแจ้งจาก กกต.จ.นราธิวาส ให้ไปชี้แจงการติดป้ายหาเสียง ที่มีข้อความว่า "ปาตานีจัดการตนเอง" ในวันนี้ 17 เมษายน 2566 ที่สำนักงาน กกต.จ.นราธิวาส ซึ่งพรรคเป็นธรรมพร้อมชี้แจงนโยบายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหลักการกระจายอำนาจ
"นโยบายจังหวัดจัดการตนเอง ของพรรคเป็นธรรม คือการเน้นการกระจายอำนาจที่เริ่มต้นจาก 31 จังหวัดชายแดน และ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลและเกาะแก่ง เนื่องจากมีต้นทุนด้านการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนที่มีมูลค่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางการจัดเก็บภาษีมูลค่ามหาศาล หากเราสามารถกระจายอำนาจได้อย่างที่นโยบายวางไว้ "
กัณวีร์ กล่าวย้ำถึงแนวคิดนโนบายจังหวัดจัดการตนเอง ส่วนคำว่า "ปาตานี" คือชื่อที่เรียกแทนพื้นที่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา หรือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อถึงความเป็นอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของชาวมลายูปาตานี ที่หลักการส่งเสริมความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ดั้งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพ
"หวังว่าทาง กกต.จังหวัดนราธิวาส ท่านจะเข้าใจความหมายและข้อความที่พวกเราพยายามสื่อสารผ่านป้ายหาเสียงของพรรคเป็นธรรมได้นะครับ เพราะนโยบายจังหวัดจัดการตนเอง หรือ การกระจายอำนาจนี้ เราได้ส่งให้ทาง กกต. ทราบแล้ว เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 ในวันที่พรรคเป็นธรรมได้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามกฏเกณฑ์ที่ กกต. กำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว"
พรรคเป็นธรรม พร้อมชี้แจงหลักการของนโยบายทั้ง พาทหารกลับบ้าน ,ยกระดับเจรจาสันติภาพ,ยกเลิกกฏหมายพิเศษ ,พัฒนาปอเนาะ ตาดีกา ,สันติภาพกินได้ และ มนุษยธรรมนำการเมือง
ฮาฟิส เปิดเผยว่า ทางกกต.จ.นราธิวาส ได้โทรศัพท์มาเชิญให้ไปชี้แจงเมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 16 เม.ย.66 แต่ตนเองติดการลงพื้นที่หาเสียงจึงได้ไปพบ กกต.เมื่อวันที่ 17 เม.ย.66 โดยทาง กกต.จ.นราธิวาส ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า "ปาตานีจัดการตนเอง" ที่ใช้หาเสียง เป็นคำแสลง ที่หมิ่นเหม่ กับหน่วยงานด้านความมั่นคง
"ผมได้ยืนยันว่า ปาตานีจัดการตนเอง เป็นนโยบาย จังหวัดจัดการตนเอง เป็นเพียงการกระจายอำนาจ โดยเราใช้คำว่า ปาตานี เป็นภาพรวมเพื่อแทนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกกต.ขอว่า ใช้นราธิวาสไม่ได้เหรอ โดยบอกว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่สบายใจ และมีคำถามมาถึง กกต.ว่าจะทำอย่างไรกับคำนี้ ผมก็งงว่า องค์กรอิสระ ทำไมให้หน่วยงานอื่นมาท้วงติงได้"
ฮาฟิส ตั้งข้อสังเกตว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระ ทำให้หน่วยงานอื่นมาท้วงติงการปฏิบัติงานได้ และนโยบายนี้เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ ขณะที่กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเป็นธรรม หมายเลข 3 ชี้แจงด้วยว่า พรรคเป็นธรรมมีนโยบายจังหวัดจัดการตนเอง และพื้นที่ ปาตานี หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ชายแดนและชายฝั่งทะเลและเกาะแก่ง 53 จังหวัดที่อยู่ในนโยบายนี้
"เราไม่ตกใจที่ กกต.ร้องขอให้ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.นราธิวาส ให้มาชี้แจงคำว่า ปาตานีจัดการตนเอง เพราะเป็นการตอกย้ำหน่วยงานรัฐไทย ที่การทหารนำการเมือง มองแต่เพียงว่าจะไปกระทบความมั่นคง โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน"
กัณวีร์ เปิดเผยว่า ตนเองได้คุยกับทาง กกต. จ.นราธิวาส ยืนยันว่า นโยบายจัดการตนเอง ไม่ใช่ การปกครองตนเอง ซึ่งคำว่า management ต่างจาก government แนวคิดจะให้จังหวัดตนเอง เป็นนโยบาย ที่ให้จังหวัดชายแดน 33 จังหวัด และจังหวัดชายฝั่งทะเลเกาะแก่ง 23 จังหวัด ได้มีฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพราะมีเศรษฐกิจหมุนเวียนหลายหมื่นล้านบาท ลักษณะจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือน กทม.และ พัทยา ที่เป็นการปกครองพิเศษ แต่การห้ามใช้คำว่า ปาตานี เป็นสิ่งที่พรรคเป็นธรรม ต้องต่อสู้ เพราะ หากเราไม่ทำตามข้อเสนอ กกต.ผู้สมัคร ส.ส.ของเราถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง เป็นความไม่เป็นธรรม
"ข้อเรียกร้องคำว่า ปาตานี ไม่ใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ หากความมั่นคงมองว่า เรื่องนี้เป็นภัยคุกคาม แล้วเมื่อไหร่ ประชาธิปไตยของไทยจะงอกงาม เราคงไม่ถอด หรือปลดป้ายออก พรรคเรายืนยันว่า นโยบายจังหวัดจัดการตนเอง ยังเสนออยู่ เพราะเป็นนโยบายที่เสนอให้ทาง กกต.รับทราบเรียบร้อยแล้ว หากจะให้ถอน หรือปิดคำว่า ปาตานี แต่เรายังต้องการให้ ปาตานีจัดการตนเอง"
กัณวีร์ เปิดเผยด้วยว่า ในการชี้แจง กกต.บอกว่า วิญญูชน เวลาอ่านป้าย ปาตานีจัดการตนเอง มีการตีความว่า ให้ปกครองตนเอง ซึ่งฟังแล้วก็ตกใจคำพูดจาก กกต.เพราะคำนี้ไม่ใช่ autonomy หรือการปกครองตนเอง ที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นห่วง แต่คำนี้เป็นเพียงการกระจายอำนาจ และประชาชนต้องการเสรีภาพ แต่นี่แค่ติดป้าย ปาตานีจัดการตนเอง ยังถูกห้ามจากทหาร ก็แสดงว่าทหารยังนำการเมือง ที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย
ฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า พรรคเป็นธรรมอยากสถาปนาให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า การเมืองต่างหากที่เปลี่ยนแปลงปัญหาในพื้นที่ปาตานีได้ พรรคจึงอยากเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งโดยใช้การเมือง พรรคต้องการให้ประชาชนเห็นว่าเรามีสิทธิทางการเมืองอย่างสันติ ในการชูอัตลักษณ์ ผ่านระบบเลือกตั้ง แต่รัฐราชการยังไม่เข้าใจเรื่องนี้
"ในกระบวนการสันติภาพ การปกครองตนเอง และการกระจายอำนาจ ก็ถูกพูดคุยในวงราชการ นโยบายของเรายังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และแนวคิดของรัฐ จังหวัดจัดการตนเอง เป็นเพียงการกระจายอำนาจ และโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ นำอัตลักษณ์พื้นที่และคำว่า มลายูปาตานี เป็นอัตลักษณ์ ที่สามารถสะท้อนสู่สังคมโลก ก็จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ด้วย ต่างจากมุมมองของหน่วยความมั่นคง พรรคเป็นธรรมให้ความสำคัญกับกระบวนการสันติภาพ เราก็ทำอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เป็นคำที่ไม่อันตราย ปัญหาไม่ใช้นโยบายของเรา แต่มุมมองของราชการที่ต้องปรับเข้าหาประชาชน" ฮากิม กล่าวย้ำ
ฮาฟิส ไม่กังวลที่ กกต.ระบุว่าหากไม่ปลดป้ายอาจจะนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิการเป็นผู้สมัคร ส.ส. และยืนยันว่า ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งกกต.ให้เวลาภายใน 4 วันในการปลดป้าย หลังจากนี้ทาง กกต.จะมีการส่งหนังสือมาให้ผู้สมัคร และส่งหนังสือถึงพรรคให้ชี้แจงไปที่ กกต.กลาง ทางพรรคก็จะทำหนังสือชี้แจงไปและยืนยันใช้คำว่า ปาตานี บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
กัณวีร์ ยืนยันด้วยว่า จะไม่ปลดป้ายออก เพราะเป็นข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งมาจากโครงการฟังเสียงศักดิ์สิทธิ์ ที่พรรคเป็นธรรมได้มาจากการรับฟังเสียงของประชาชน จึงนำมาเป็นนโยบาย
"ถ้าเราปลดป้าย ก็จะเป็นการหักหลังประชาชน เราไม่สามารถทำได้ และยืนยันว่า คำว่าปาตานีจะไม่เลือนหายจากพรรคเป็นธรรม เรายังต่อสู้เพื่อชาวปาตานี เราจะแสดงออกในการต่อสู้และพูดคุยคำว่า ปาตานี ต่อไป" กัณวีร์ กล่าวย้ำ