ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อำนวยการ UN Women เอเชียแปซิฟิก ชี้ผลกระทบจากโควิด-19 ไม่จบง่ายๆ แม้จะควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว 'ผู้หญิง' ต้องแบกภาระในด้านต่างๆ เพิ่ม แต่อาจไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ ขณะที่สภาพสังคม-ศก.กดดัน เสี่ยงความรุนแรงในครอบครัวเพิ่ม

โมฮัมหมัด นาซิรี ผู้อำนวยการ UN Women หรือ 'องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ' ประจำเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เกี่ยวพันกับประเด็นทางสังคมในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงแง่มุมด้านสาธารณสุข เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ยังรวมไปถึงด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตด้วย

ก่อนหน้านี้ นาซิรีได้ลงพื้นที่หลายจังหวัดของไทย จึงได้รับทราบปัญหาในครัวเรือนที่เกี่ยวพันกับผู้หญิง และมองว่า ผลพวงจากการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อาจส่งผลต่อเนื่องแก่กลุ่มคนจำนวนมาก และปัญหาต่างๆ ยังไม่จบลงแม้จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วก็ตาม

การออกมาตรการเยียวยาหรือการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล ต้องแน่ใจว่า "ผู้หญิงจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง" และนี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ควรพูดถึงคุณค่างานที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องแบกรับภาระอย่างหนักในแต่ละวัน แต่ที่ผ่านมาอาจไม่ได้รับทั้งค่าตอบแทนและความสนใจจากคนในสังคม เช่น การทำงานบ้าน งานดูแลคนในครอบครัว

ส่วนผู้หญิงที่เป็นแรงงานในภาคเกษตรหรือแรงงานนอกระบบ ต้องได้รับความคุ้มครองด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาชีพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพราะหลายครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ผู้หญิงจะเป็นคนส่วนใหญ่ที่ถูกเลิกจ้างหรือตกงานก่อนผู้ชาย


อย่าให้ 'โควิด-19' บดบังประเด็นทางสังคมอื่นๆ

แม้สถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทยจะไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงพุ่งสูงจนน่าหวั่นวิตกเหมือนกับอีกหลายประเทศที่ถูกมองว่ากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ข่าวคราวผู้ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความกดดันและความตึงเครียดในชีวิตประจำวันของผู้คน

ในทัศนะของนาซิรี มองว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 มีสองประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลไทยและทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ประการแรก คือ การทำให้ทุกคนปลอดภัย โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ประการที่สอง คือ การส่งเสริมความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติ (economic resilience)

"ความปลอดภัยไม่ได้หมายความแค่ว่า เราทุกคนจะต้องไม่ติดโควิด แต่ต้องรวมไปถึงว่าผู้หญิงจะต้องปลอดภัยจากความรุนแรงในครอบครัวด้วย เราต้องร่วมมือทำงานเรื่องประเด็นความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และทุกคนในทุกเพศสภาพจะต้องปลอดภัยในบ้านตัวเอง" นาซิรีย้ำ

"เราเข้าใจดีว่าโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญกับประเด็นโควิดเป็นอันดับต้นๆ แต่ความรุนแรงในครอบครัวก็ถือเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นผลพวงหนึ่งจากสถานการณ์โควิด เราจึงจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน"

โมฮัมหมัด นาซิรี ผอ.UN Women เอเชียแปซิฟิก แจกหน้ากากอนามัยให้ผู้ค้าขายย่านบางลำภูยุคโควิด.jpg
  • โมฮัมหมัด นาซิรี ลงพื้นที่แจกหน้ากากอนามัยให้ผู้ค้าขายในประเทศไทย

"เรื่องที่สอง คือ เราจะทำอย่างไรให้สังคมไทย ซึ่งไม่ต่างจากสังคมอื่นๆ ทั่วโลก สามารถฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กลับสู่สภาวะปกติได้ เพราะผลกระทบอีกด้านของโควิดก็คือการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ตำแหน่งงานบางอย่างจะหายไป ธุรกิจบางอย่างจะเลิกกิจการ เราจึงต้องช่วยกันส่งเสริมความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และต้องหาผู้ที่จะมาเป็นหุ้นส่วนทำงาน ไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐ แต่ต้องมาจากทุกๆ ส่วนในสังคม ทั้งภาคเอกชน ผู้ที่มีจิตใจกุศล ภาคประชาสังคม และก็รวมถึงรัฐบาลด้วย"

"ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้หญิงในเขตชนบท ผู้หญิงที่ทำงานนอกระบบ และผู้หญิงที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คือ คนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดในตอนนี้"

"อีกประเด็นที่ต้องพูดถึง คือ มาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม เราจะต้องไม่ลืมคนที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย และผู้ที่ไม่มีงานทำอีกต่อไป เพราะธุรกิจต่างๆ ไม่เติบโต เราจึงต้องเรียกร้อง ไม่ใช่แค่จากรัฐบาล แต่ต้องรวมถึงภาคเอกชนด้วย

"เราต้องมองว่า จะทำอย่างไรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคมพิ่มขึ้น เราจะทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอย่างไร เพื่อเอื้อมไปให้ถึงผู้ที่อยู่ห่างไกลไปจากเรา และจะทำยังไงให้คนที่มีใจกุศลและมูลนิธิต่างๆ มุ่งมั่นหรือให้ความสำคัญกับกรณีต่างๆ ที่เกิดจากผลกระทบของโควิด-19"


บทบาท 'ผู้ชาย' ในองค์กรเพื่อผู้หญิง

ในฐานะที่เป็นผู้ชายคนแรกที่รับตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งทำงานกับผู้หญิงและเพื่อผู้หญิง 'วอยซ์ออนไลน์' สอบถามเพิ่มเติมถึงเป้าหมายในการทำงานของ 'นาซิรี' ที่มีต่อการส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทผู้หญิง

"ผมไม่อาจคิดเอาเองว่าผมสามารถเข้าใจผู้หญิงได้ทุกอย่าง ไม่อาจคิดไปเองว่าผมเป็นคนนำผู้หญิง แต่ผมมาอยู่ที่นี่เพื่อส่งเสริม ผมมาที่นี่เพื่อสนับสนุน และมอบหนทางแก่ผู้ที่ไม่มีปากมีเสียงให้สามารถมีเสียงดังขึ้นมาได้ การทำงานกับผู้หญิงและเพื่อผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของทั้งสังคม ถ้าความเหลื่อมล้ำยังดำเนินต่อไป ทุกคนก็มีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ผู้ชายและเด็กผู้ชาย รวมถึงคนในทุกเพศสภาพ เพราะฉะนั้นเราจะต้องร่วมมือทำงาน สู้กับความเหลื่อมล้ำนี้ไปด้วยกัน"

UN Women ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

"ผมพยายามทำความเข้าใจผู้หญิงเท่าที่จะทำได้ แต่ผมก็มีทีมที่ทำงานร่วมกัน เราพยายามจะรวบรวมมุมมองทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เห็นว่าประเด็นผู้หญิงมีที่มาจากไหนกันบ้าง และผู้ชายมีที่มาจากไหนกันบ้าง จะทำยังไงเราถึงจะทำให้ผู้ชายและเด็กผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางเพศและสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง"

"ผู้หญิงในเขตชนบทต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ต่างไปจากผู้หญิงในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกาสทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงบริการต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงทั้งสองกลุ่มเจอเหมือนกัน และเป็นประเด็นร่วมใหญ่ๆ ของทั้งสองกลุ่มก็คือ ความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเกิดขึ้นทั้งในเขตเมืองและชนบท และนี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมมือกันหาทางแก้ ไม่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะอยู่ในเขตเมืองหรือชนบท"

เมื่อสอบถามถึงแนวทางการทำงานในไทยด้านการส่งเสริมและสนับสนุนผู้หญิง ควบคู่ไปกับสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ผอ.UN Women เน้นย้ำว่ามี 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การป้องกัน คุ้มครอง และดำเนินคดี ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

"สิ่งสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 'ป้องกัน' (prevention) เราต้องสร้างความตระหนักรู้ เราต้องเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ทำงานร่วมกันกับองค์กรสื่อที่มีความรับผิดชอบ รวมถึงปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา วัฒนธรรมและบรรทัดฐานต่างๆ

ต่อมาคือ 'คุ้มครอง' (protection) เราต้องดำเนินการให้แน่ใจว่ามีพื้นที่สำหรับผู้หญิง ต้องจัดหาที่หลบภัยและรับรองด้านความปลอดภัย เช่น มีบ้านพักพิงหรือสถานที่ที่จัดหาให้โดยรัฐบาล

ประการที่ 3 คือ 'การดำเนินคดี' (prosecution) กระบวนการยุติธรรมควรจะต้องรวดเร็ว และตอบสนองต่อผู้หญิงที่ต้องเจ็บปวดจากความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ควรต้องรอนานเป็นปี หรือต้องทนกับความรุนแรงในครอบครัวหลายปีกว่าที่กระบวนการยุติธรรมจะเข้ามามีบทบาท"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: