ไม่พบผลการค้นหา
หลัง ตร.ไทยยืนยันว่า 2 ศพที่พบในแม่น้ำโขงเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว คือ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย นักวิชาการอิตาลีีชี้ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในประเทศเพื่อนบ้าน 'หายตัว' พร้อมตั้งคำถามว่า "ต้องเจออีกกี่ศพ ถึงจะเรียกร้องความสนใจจากประชาคมโลกได้"

เคลาดิโอ โซพรานเซตติ นักวิชาการชาวอิตาลี แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทยผ่านเว็บไซต์ 'อัลจาซีรา' เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 โดยระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกจะต้องใส่ใจชะตากรรมของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยที่ลี้ภัยในต่างแดน (It's time we listened to the plight of Thai dissidents abroad) พร้อมทั้งอ้างอิงกรณีพบศพ 2 ศพในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนมเมื่อวันที่ 26-27 ธ.ค.2561 เพราะสิ่งที่น่าสะเทือนใจคือทั้งสองศพอยู่ในสภาพถูกมัดมือไพล่หลังด้วยกุญแจมือ ทั้งยังถูกคว้านไส้และยัดแท่งปูนลงไปในท้อง 

ตำรวจไทยเผยผลชันสูตรศพที่พบในแม่น้ำโขง โดยยืนยันว่า เป็นศพของผู้ใช้นามแฝงว่า 'ภูชนะ' และ 'กาสะลอง' นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยซึ่งเป็นคนสนิทของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ 'สุรชัย แซ่ด่าน' กลุ่มแดงสยาม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย ซึ่งหนีไปพำนักอาศัยที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยทั้งสามคนหายตัวไปจากเวียงจันทน์ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2561 จนกระทั่งพบศพของภูชนะและกาสะลอง แต่ยังไม่พบร่องรอยของนายสุรชัย


"ใครก็ตามที่ฆ่าพวกเขา คงหวังว่าแท่งปูนในท้องจะถ่วงร่างและความทรงจำเกี่ยวกับพวกเขาจมลงสู่ก้นบึ้งแม่น้ำ แต่ก็เหมือนเคย-นักเคลื่อนไหวนั้นดื้อดึงและยืนยันที่จะส่งเสียง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นหรือตาย" โซพรานเซตติกล่าว


บทความของนักวิชาการชาวอิตาลีระบุเพิ่มเติมว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยที่หายตัวไปขณะอยู่ในลาว ไม่ได้มีแค่ภูชนะ กาสะลอง และสุรชัย เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของอิทธิพล สุขแป้น หรือ 'ดีเจซุนโฮ' หายตัวไปตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ 'โกตี๋' หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ถูกกลุ่มชายที่พูดภาษาไทยประมาณ 10 คน บังคับนำตัวไปจากที่พักในกรุงเวียงจันทน์เมื่อปี 2560

ส่วนสุรชัย ภูชนะ และกาสะลอง หายตัวไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. จนกระทั่ง 2 ใน 3 ผู้ที่หายตัวถูกพบเป็นศพลอยขึ้นมาในแม่น้ำโขงปลายปีที่แล้ว


อุ้มหาย - วิธีใหม่ในการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ ?

สุรชัยถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และถูกตัดสินลงโทษจำคุก 12 ปี 6 เดือน ก่อนจะได้รับอภัยโทษเมื่อเดือน ต.ค. 2556 แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือน พ.ค.2557 ได้ไม่นาน สุรชัยและคนสนิททั้งสองรายก็ตัดสินใจลี้ภัยไปยังลาว ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เนื่องจากพวกเขาถูกปฏิเสธจากประเทศแถบยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

โซพรานเซตติตั้งคำถามในบทความว่าการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยในต่างแดน โดยเฉพาะกรณีของสุรชัย ภูชนะ และกาสะลอง เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเยือนลาวเพื่อคุยความร่วมมือด้านการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมและการท่องเที่ยวระหว่างไทยและลาวช่วงกลางเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเหตุบังเอิญก็ได้ แต่ตลอด 4 ปีที่พลเอกประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองก็มีความพยายามกดดันให้รัฐบาลลาวส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ สถิติผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เมื่อปี 2561 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสถิติผู้ถูกดำเนินคดีระหว่างปี 2559-2560 และผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไทยถูกดำเนินคดีในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่ยังอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกที่สนับสนุนให้ไทยเปลี่ยนผ่านการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลพลเรือน เนื่องจากผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกมองว่าไม่ได้เผชิญภัยคุกคามเพราะออกนอกประเทศไปแล้ว

แต่เมื่อนักเคลื่อนไหวทั้ง 3 รายหายตัวไปจากเวียงจันทน์ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการตั้งกลุ่มล่าหัวคนเหล่านี้ในต่างประเทศหรือไม่ และจะต้องพบศพเพิ่มอีกกี่ศพ ประชาคมโลกและองค์กรระหว่างประเทศจึงจะใส่ใจในชะตากรรมของผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหล่านี้

(เคลาดิโอ โซพรานเซตติ เป็นนักวิชาการอิตาลีที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับสังคมไทย และถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า Owner of the Maps โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวินมอเตอร์ไซค์และการขับเคลื่อนของชนชั้นรากหญ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย)