นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคเส้นเลือดในสมองแตก เกิดจากความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดตีบตัน อุดตัน จนหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลายจนทำให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก ทั้งนี้ ไม่มีสัญญาณเตือน แต่อาจพบอาการปวดศีรษะเป็นพักๆ แล้วหายไป ซึ่งความรุนแรงของเลือดที่ออกในสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่งของความผิดปกติที่พบ
หากเป็นความผิดปกติของสมองที่อยู่ด้านบน จะมีอาการปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการชัก ถ้าปวดบริเวณท้ายทอยด้านหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้กับก้านสมอง จะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน และหมดสติ ส่งผลให้เสียชีวิตได้
โรคเส้นเลือดในสมองแตกส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับวัยผู้ใหญ่ และสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กเช่นกัน แต่มีโอกาสพบได้น้อยมาก อาการที่พบมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากอาจมีเส้นเลือดผิดปกติ หรือภาวะเลือดออกในสมองจากการที่เส้นเลือดเจริญเติบโตผิดปกติ
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเส้นเลือดในสมองแตกในเด็ก เกิดจากความผิดปกติใน 3 ระบบ ได้แก่ 1. เส้นเลือดผิดปกติในสมองแล้วแตกเอง ซึ่งสามารถพบได้น้อย 2. ภาวะที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือกลุ่มโรคทางพันธุกรรม ฮีโมฟีเลีย หรือ โรคเลือดไหลไม่หยุด ทำให้มีอาการเลือดออกง่ายและหยุดยาก และ 3. ภาวะที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนจนเส้นในสมองฉีกขาด เช่น โยก โยน จับสั่น เขย่าแรงๆ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองได้
สำหรับวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น สามารถสังเกตอาการได้จากบริเวณศีรษะของเด็ก ถ้ากระหม่อมบวมตึง ร้องกวนมากกว่าปกติ ทานนมได้น้อย ปวดศีรษะ ซึมลง คลื่นไส้ อาเจียน ควรให้ทานยาแก้ปวด และให้นอนพัก โดยหมั่นสังเกตอาการเป็นระยะๆ ถ้าเด็กยังมีอาการปวดศีรษะควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป แต่หากเป็นกลุ่มเด็กที่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย ถ้ามีอาการปวดศีรษะหรือได้รับการกระแทกเพียงเล็กน้อย ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยด่วน