ไม่พบผลการค้นหา
'ธนาธร' ร่วมวงคุยประชาชนชายแดนใต้ ชูวิสัยทัศน์พัฒนาเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ชี้มีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนา เชื่อ 'ปลดล็อกท้องถิ่น' คือคำตอบ แก้ทั้งโจทย์ความมั่นคงและการพัฒนา สุดงงงบดับไฟใต้ 2 แสนล้านบาทในรอบ 20 ปีไปลงที่ไหน เชื่อเจียดมาแค่ 1% ใช้สร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพได้ครบทุกจังหวัด แถมเหลืองบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เดินสายพบปะประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมวงสนทนาพูดคุยรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และวงสนทนา 'จากมองต์บลังถึงปาตานี' ที่ อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งธนาธรได้เล่าประสบการณ์การวิ่งเทรลพร้อมเสนอแนะแนวทางพัฒนาพื้นที่โดยอาศัยศักยภาพของท้องถิ่นเอง

สำหรับวงพูดคุยที่ จ.นราธิวาส นอกจากการพูดคุยถึงปัญหาของพื้นที่เกี่ยวกับที่ดิน สิ่งแวดล้อม การพัฒนาพื้นที่ และปัญหาความมั่นคงแล้ว ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย ธนาธรระบุว่าจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีความใกล้เคียงทางภาษาและวัฒนธรรมกับทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรหลายร้อยล้านคน ทำให้มีศักยภาพอย่างมากในการพัฒนา รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม ธนาธรยังระบุด้วยว่าปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้ในเรื่องของความมั่นคง ยังเป็นปัญหาหนึ่งที่ขัดขวางการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ อยู่ ซึ่งจะต้องอาศัยการกระจายอำนาจปลดล็อกท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการค่อยๆ ถอนการใช้กฎหมายพิเศษและกองทัพออกจากพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างบรรยากาศของการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการลดความตึงเครียดระหว่างรัฐส่วนกลางกับประชาชนในพื้นที่ลงไปในเวลาเดียวกัน

“การปลดล็อกท้องถิ่น คือสิ่งที่ชาวอนาคตใหม่ ทั้งพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้ายึดมั่น เราเชื่อว่าไม่มีใครคิดออกแบบและหาคำตอบให้ชุมชนทุกชุมชนในประเทศได้ด้วยตัวคนเดียว หน้าที่ของเราคือการปลดโซ่ตรวนที่ฉุดรั้งคนในพื้นที่ไม่ให้มีอำนาจและงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ตัวเองได้ นั่นคือโครงสร้างของรัฐราชการรวมศูนย์ที่เป็นอยู่แบบนี้ และที่นี่จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจได้ เราต้องปูทางไปสู่การเลิกมีด่านทุกกิโลเมตรแบบนี้ ค่อยๆ ลดกำลังทหาร ค่อยๆ ยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่ใช้อยู่ในพื้นที่ลงด้วย” ธนาธรกล่าว

ส่วนวงพูดคุยในช่วงค่ำที่ จ.ยะลา นอกจากการเล่าประสบการณ์และที่มาที่ไปของการลงแข่งขันวิ่งเทรลที่ผ่านมาแล้ว ธนาธรยังได้สะท้อนมุมมองที่ตัวเองได้รับมาจากกิจกรรมวิ่งเทรล โดยระบุว่าในฝรั่งเศส การเดินเขาเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมาก ทั้งมองต์บลังและทะเลสาบโดยรอบกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลสำหรับคนท้องถิ่น จนมีการจัดกิจกรรมวิ่งเทรลขึ้นในเส้นทางหนึ่งของมองต์บลัง โดยใช้ชื่อว่า UTMB (Ultra Trail du Mont Blanc) ซึ่งทำให้นักวิ่งรวมถึงผู้ติดตามกว่า 4 พันคน มาร่วมกิจกรรมและจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ทุกปี ยิ่งกลายเป็นเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก

ในจังหวัดชายแดนใต้เอง จากการที่ตัวเองได้มาร่วมงานวิ่งเทรลที่เบตงครั้งหนึ่ง ทำให้เห็นว่าการท่องเที่ยวแนวผจญภัยและการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในจังหวัดชายแดนใต้ยังมีศักยภาพไปได้อีกไกลมาก สามารถนำมาดึงส่วนแบ่งจากตลาดการท่องเที่ยวแนวผจญภัยที่กำลังเติบโตในประเทศไทย และนำมาใช้เป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนได้

ธนาธรยังระบุต่อไป ว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา สามจังหวัดชายแดนใต้มีงบประมาณลงมาผ่าน ศอบต. ในนาม 'งบดับไฟใต้' กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่มีใครเห็นว่างบประมาณเหล่านั้นลงไปที่ไหน หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทั้งที่หากใช้เพียง 1% ของงบประมาณก้อนนี้ เราสามารถสร้างการพัฒนาพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญได้ เช่น การขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญของการสร้างเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้มีสถานที่ทางเศรษฐกิจ ทั้งด่านการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวจำนวนมาก ถ้าสามารถเชื่อมโยงได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีรอบวิ่งที่แน่นอน จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปริมาณมากได้

“หากคิดแบบใช้ตัวเลขสูงไปเลย คือการมีรถเมล์ 500 คันวิ่งเชื่อมโยงทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ คิดราคาตกคันละ 5 ล้านบาท รวมทั้งหมด 2,500 ล้านบาท จะคิดเป็นเพียง 1% ของงบประมาณที่ใช้ดับไฟใต้ผ่าน ศอ.บต. กว่า 2 แสนล้านบาทในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เราสามารถแก้ปัญหาพื้นฐานสำหรับทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยว อย่างเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ได้ และอาจจะเหลือใช้ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ด้วย” ธนาธรกล่าว