ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.ขสมก.เผยเตรียมเสนอแผนฟื้นฟูฯ ให้ ครม.อนุมัติ ส.ค.นี้ คาดประชาชนได้ใช้รถใหม่ภายใน 12-18 เดือน เก็บค่าโดยสารแบบเหมา 30 บาท/วัน มั่นใจจะไม่เป็นภาระรัฐบาลนับตั้งแต่ 2567

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ที่ได้มีการปรับแผนใหม่ ล่าสุดผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยแผนฟื้นฟูฯ ฉบับล่าสุดได้มีการปรับปรุงในบางประเด็นจากแผนในปี 2562 คือการจัดรถใหม่ จากเดิมที่มีหลายประเภทเชื้อเพลิง และการเป็นเช่าซื้อโดย ขสมก. ปรับเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมด และเป็นการเช่าจ่ายเอกชนเป็นกิโลเมตร เพื่อลดภาระการบริหารทรัพย์สิน

ผู้บริหาร อสมก พบสื่อ
  • สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

สำหรับการจัดการรถใหม่ หากครม.เห็นชอบ จะเริ่มกระบวนการจัดทำทีโออาร์และเปิดประมูลเอกชนรับจ้างการเดินรถ ประมาณ 6 เดือน คาดว่าอีกประมาณ 12-18 เดือนจะได้รถใหม่ครบทั้งหมด 2,511 คัน โดยในแผนฟื้นฟูฉบับใหม่จะคิดอัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายอยู่ที่ 30 บาท ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ทั้งรถของขสมก.และรถร่วมฯ นอกจากนี้จะมีทางเลือกสำหรับผู้ที่เดินทางน้อย สามารถจ่ายรายเที่ยวเริ่มต้นที่ 15 บาทต่อคนต่อเที่ยวด้วย

โดยผู้อำนวยการ ขสมก.มั่นใจว่า หากทำตามแผนที่วางไว้ ซึ่งมีการคำนวณว่าจะขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2571 และในปี 2572 ขสมก.จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ภาครัฐในอนาคต ซึ่งนับเป็นการเตรียมแผนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้

"รถเมล์แบบไหนถูกใจคนกรุงฯ"

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้เปิดเผยผลสำรวจ "รถเมล์แบบไหน ถูกใจคนกรุง" ซึ่งเก็บข้อมูลจากประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,299 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.7 มีความพึงพอใจต่อรถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในระดับน้อย รองลงมาร้อยละ 33.0 ระบุว่า พึงพอใจปานกลาง และร้อยละ 20.3 ระบุ ว่าพึงพอใจมาก

เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ของรถเมล์ที่วิ่งอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.0 ระบุว่ารอรถเมล์นาน รถไม่พอกับความต้องการ รองลงมาร้อยละ 51.7 ระบุว่า รถมีสภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรม และร้อยละ 41.2 ระบุว่ารถปล่อยควันดำ ส่งผลเสียด้านมลพิษ

สำหรับความคาดหวังว่าอยากได้รถเมล์แบบใดนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.6 อยากให้รถเมล์มาตรงเวลา ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน จะได้เดินทางรวดเร็วขึ้น รองลงมาร้อยละ 53.1 ระบุว่าอยากให้รถเมล์ใหม่ทุกคัน ทุกสาย เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และร้อยละ 51.9 ระบุว่าอยากให้ออกรถถี่ขึ้น มีที่นั่งเพียงพอ ไม่ต้องเบียดเสียดแออัด ตามรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

นอกจากนี้ ยังมีความต้องการอื่นๆ จากเสียงของผู้ใช้บริการ อาทิ ร้อยละ 37.6 อยากให้รถโดยสารเป็นรถชานต่ำ เป็นมิตรกับผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และร้อยละ 26.8 มีความคาดหวังให้ชำระค่าบริการผ่าน E-Ticket แทนการใช้เงินสด เพื่อความสะดวก ลดการสัมผัส และปรับราคาค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย 30 บาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :