องค์การอนามัยโลก (World health Organization: WHO) ออกรายงานชิ้นล่าสุด แสดงความกังวลถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ป่วยสมองเสื่อม (dementia) ทั่วโลก ที่อัตราปีละ 10 ล้านคน
ปัจจุบันผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีอยู่ราว 55 ล้านคน ด้วยอัตราข้างต้นจะส่งผลให้ยอดรวมผู้ป่วยทั่วโลกสูงขึ้นไปถึง 78 ล้านคน ภายในปี 2573 และทะลุไปแตะหลัก 139 ล้านคน ในสามทศวรรษจากนี้
อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่า 60% ของผู้ป่วยสมองเสื่อมอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ ที่มีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขไม่ทั่วถึง การที่สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมจึงยิ่งเข้าไปซ้ำเติมภาระทางการเงิน
ผลสำรวจในปี 2562 พบว่า ในครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมนั้น ผู้ดูแลอย่างไม่เป็นทางการซึ่งมักเป็นบุตรหลานของผู้ป่วย ต้องใช้เวลาเฉลี่ยถึงวันละ 5 ชั่วโมง ในการดูผู้ป่วย ซึ่งเป็นภาระที่หนักทั้งในเชิงร่างกาย จิตใจ และค่าเสียโอกาสทางการทำงานหาเงิน
ประเด็นการดูแลผู้ป่วยยังนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมของเพศ เนื่องจากภาระดูแลผู้ป่วยตกเป็นหน้าที่ของเพศหญิงเกินกว่า 70%
ข้อมูลจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ชี้ว่า สมองเสื่อม (dementia) เป็นภาวะที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น หลงลืมง่าย, คิดเงินไม่ถูก, หาของไม่เจอ หรือแม้แต่การหลงทางในสถานที่คุ้นเคย
ภาวะสมองเสื่อมสามารถแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือกลุ่มที่รักษาหายขาดกับกลุ่มที่รักษาไม่หายขาด โดยในกลุ่มแรกนั้นอาจมีสาเหตุมาจาก โรคของต่อมไทรอยด์หรือโรคขาดวิตามินบี 12, น้ำคั่งในโพรงสมอง เนื้องาน หรือเลือดออกในสมอง, ผู้กำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (depression) และผลกระทบจากยาประจำบางชนิด
ส่วนภาวะสมองเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มนี้คือ อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ซึ่งตามข้อมูลจาก WHO พบว่าเป็นสาเหตุหลัดถึง 60% - 70% ของผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งหมด นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ (vascular dementia) ได้เช่นกัน
แม้อายุจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อสมองเสื่อม แต่ปัจจัยร่วมอื่น ๆ ก็สำคัญเช่นกัน อาทิ การสูบบุหรี่, การไม่ออกกำลังกาย, การดื่มเครื่อมดิ่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงคุณภาพอากาศที่เป็นพิษ