ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.วิสามัญแก้ราคาเกษตรตกต่ำ พอใจผลงานอนุฯ ทั้ง 6 คณะ ดันราคามะพร้าว ข้าวโพดพุ่งขึ้นได้ พร้อมเข้มงวดสกัดการลักลอบนำเข้าพืชหลายชนิด ที่ส่งผลให้ราคาในไทยตกต่ำ

นายวีระกร คำประกอบ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ พร้อมประธานอนุกรรมาธิการ 6 คณะ แถลงภาพรวมการทำงาน ก่อนครบวาระในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ โดยได้ขอบคุณคณะที่ได้ทำงานร่วมกันมาด้วยความอดทน โดยศึกษาปัญหาจนกระทั่งหลายเรื่องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะราคามะพร้าว ที่ทำให้ราคาขึ้นเป็น 15 บาทจาก 5 บาทและข้าวโพดจากกิโลกรัมละ 7 บาทเป็น 9 บาทกว่า

จากการศึกษาพบปัญหาหลักๆ ของมะพร้าว คือ การลักลอบนำเข้า, ส่วนข้าว กมธ.เสนอให้รัฐบาลเข้าแก้ไขปัญหาในส่วนการประกันรายได้ ซึ่งดำเนินการบ้างแล้วบางส่วน, ในเรื่องผลไม้ กมธ.ชุดใหญ่เดินทางติดต่อตลาดเมืองจีน ที่เมืองกวางโจว ที่เป็นตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุด, เรื่องอ้อย ให้รัฐบาลแก้ไขโดยปรับนโยบายเรื่องพลังงานใช้เอทานอล E20 ซึ่งจะเริ่มในปีหน้านี้ โดยขณะนี้ ปตท.ตั้งโรงงานร่วมขนาดใหญ่ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เชื่อว่า ราคาอ้อยน่าจะถึง 1,000 บาทต่อตันอย่างแน่นอน

นายวีระกร กล่าวถึง การแก้ปัญหาในส่วนปาล์มน้ำมันว่า เสนอรัฐบาลประกาศใช้แก๊สโซฮอล โดยให้น้ำมันดีเซลได้เอาน้ำมันปาล์มมาผสมร้อยละ 7 ในปีหน้า ตั้งแต่ 1 มกราคมเป็นต้นไป จะเป็นชนิด B10 ซึ่งสามารถดึงจำนวนปริมาณปาล์มน้ำมันเอาไปทำน้ำมันเติมรถยนต์ได้อีกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ตั้งแต่ปีหน้าราคาปาล์มน้ำมันจะสูงขึ้น ประกอบกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าปาล์มน้ำมันจากประเทศเพื่อนบ้านให้เข้มงวด ส่วนยางพารา ให้รัฐบาลเน้นทำถนนพาราซอยซีเมนต์ โดย 1 ปีใช้ทำถนนประมาณ 1 ล้านตัน ที่จะช่วยส่งผลทำให้ราคายางพาราสูงขึ้นได้

สำหรับราคาข้าวโพดขณะนี้ เข้มงวดในการควบคุมการนำเข้า "ปลายข้าวสาลี" เข้ามาสู่โรงงานอาหารสัตว์ ก็จะส่งผลให้ราคาข้าวโพดในปัจจุบันสูงขึ้น เและเสนอให้ควรเก็บภาษีข้าวสาลีร้อยละ 27 เหมือนเดิม และมันสำปะหลัง ให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรในวงเงิน กิโลกรัมละ 2 บาท 50 สตางค์ หรือ ตันละประมาณ 500 บาท ในปริมาณแป้งร้อยละ 25 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่

นายวีระกร ย้ำถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้ราคาพืชผลการเกษตรของไทยตกต่ำ คือ การที่ประเทศเพื่อนบ้านปลูกพืชชนิด ที่เหมือนกับไทยแต่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและเมื่อราคาพืชผลการเกษตรของไทยสูงขึ้น มีการลักลอบนำมาขายในไทยด้วย ดังนั้นการควบคุมการนำเข้าและป้องกันการลักลอบนำเข้าพืชผลการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ด้านนายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส. ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาราคามะพร้าว สรุปแนวทางแก้ปัญหาที่สำคัญคือ

1.) แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

2.)​ กวดขันตรวจสอบตามระเบียบอย่างเข้มงวด 

3.)​ ควบคุมพื้นที่นำเข้าเฉพาะท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลมฉบังที่มีอยู่เท่านั้น 

4.)​ ควบคุมการขนส่งจากท่าเรือถึงโรงงานเพื่อให้ดูปริมาณที่ชัดเจนได้ 

5.)​ กำหนดให้การกระเทาะมะพร้าวในพื้นที่ห้ามทำนอกโรงงาน 

6.)​ การเคลื่อนย้ายมะพร้าวเกิน 7 ตัน ในพื้นที่เสี่ยง ต้องมีการกำหนดเรื่องการออกใบอนุญาต

โดยปัจจุบันราคามะพร้าวอยู่ที่ 15-20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะต้องหาทางทำให้มีความยั่งยืน โดยจะมีการหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว