นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2562 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส โดยปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่ติดลบสูงถึงร้อยละ 4.9 ซึ่งทั้งปีติดลบที่ร้อยละ 3.2 และการลงทุนภาครัฐไตรมาส 4 ติดลบร้อยละ 5.1 ส่งผลให้ทั้งปี 2562 (มกราคม-ธันวาคม) เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งต่ำกว่าที่ สศช. ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 2.6 และนับเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ที่จีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 1.0
ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวในเศรษฐกิจปี 2563 ลงมาอยู่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 2.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีค่ากลางร้อยละ 3.2 เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น รวมถึงความล่าช้าของงบประมาณ และความผันผวนในเศรษฐกิจและการเงินโลก
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 สศช. ประเมินว่า หากยืดเยื้อจนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปประมาณ 2.8 ล้านคน และรายได้หายไป 150,000 ล้านบาท แต่หากยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2/2563 ผลกระทบจะคูนสอง หรือรายได้ท่องเที่ยวหายไปประมาณ 300,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวจะหายไปประมาณ 5.6 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม สศช. ระบุว่า จำเป็นที่จะต้องใช้แนวทางบริหารการประสานนโยบายการเงินการคลัง การขับเคลื่อนและฟื้นฟูการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนการส่งออกให้กลับมาขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการดูแลผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :