สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วานนี้ (14 ก.ค.66) โดยหอการค้าฯ เชื่อว่า กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยในทางรัฐสภาได้พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ ซึ่งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังไม่สามารถผ่านการลงคะแนนได้ในครั้งแรก แต่ยังมี Timeline ครั้งที่ 2 - 3 ตามที่มีกำหนดออกมาเบื้องต้นในวันที่ 19 และ 20 ก.ค. โดยยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีกระบวนการหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน ในที่สุดทุกฝ่ายจะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ และสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะหากได้รัฐบาลล่าช้าออกไป การจัดตั้ง ครม. และการประกาศนโยบายต่อรัฐสภาอาจจะเกิดขึ้นช่วง ส.ค.- ก.ย. และกว่าจะจัดทำงบประมาณแล้วเสร็จอาจได้เริ่มใช้งบประมาณประเทศในไตรมาส 2 ปี 67 ซึ่งจะล่าช้าและกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ภาคเอกชนต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่รวดเร็วที่สุด เพื่อเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนภายใต้กฎหมาย ที่สามารถทำได้ เชื่อว่าในระยะสั้นการชุมนุมจะอยู่บนพื้นฐานของความเรียบร้อย ไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น และการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจทุกส่วนมีความกังวล เพราะการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ทำให้มีการจัดทำงบประมาณล่าช้าออกไปด้วย ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจ หรือวางแผนธุรกิจของนักลงทุน และส่งผลต่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า แต่ยังอยู่ในกรอบเดือน ส.ค. - ก.ย. 2566 ทำให้เศรษฐกิจเสียโอกาสไม่รุนแรง เพราะรัฐบาลรักษาการสามารถประคองการจ่ายงบประมาณไปได้ ส่วนการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ประเมินภาพในขณะนี้มองว่าจะไม่ยืดเยื้อจนกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และหากสามารถตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือน ส.ค. - ก.ย. 2566 ทำให้คาดว่าจีดีพีของไทยในปี 2566 นี้จะเติบโตได้อยู่ในกรอบ 3.5-4% ต่อปี
"หอการค้าฯ ยังคงกรอบจีดีพีปี 2566 อยู่ที่ 3.5% หากการประท้วงไม่มีความรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เกิดการเจ็บ เสียชีวิต หรือเผาทำลาย ทุกอย่างผ่านไปได้ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในกรอบ 3.5-4% ถามว่าทำไมถึงมั่นใจแบบนั้น เพราะธนาคารโลกได้ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.9% ซึ่งเชื่อว่าได้ประเมินปัจจัยทางการเมืองไปบ้างแล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่นำการเมืองมาถ่วงเป็นปัจจัยลบรุนแรง หอการค้าฯ จึงยังมองการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.5% บวกลบ ยังไม่เปลี่ยนประมาณการณ์ แต่ถ้าเหตุการณ์พลิกผันรุนแรง ก็ต้องดูระดับความรุนแรงว่าเป็นอย่างไร" ธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และคาดหวังว่าปี 2566 ที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในไทย 30 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวที่มาไทยทุก 10 ล้านคน จะสร้างให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าในไตรมาส 4 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 7-9 ล้านคน แต่หากสถานการณ์การเมืองพลิกผันเกิดความรุนแรง จะกระทบทำให้นักท่องเที่ยวหายไปต่อเดือนเหลือ 1 ล้านคน จาก 2-3 ล้านคน และถ้าการชุมนุมยืดเยื้อ 6 เดือนหลัง นักท่องเที่ยวจะหายไปครึ่งหนึ่ง หรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวจะหายไป 10 ล้านคน เม็ดเงินหายไป2-5 แสนล้านบาท จีดีพีถูกลบไป 1% จะทำให้วงจรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะงักลง แต่ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะประเมิน และเชื่อว่าไม่น่าเกิดเหตุความรุนแรงจนถึงจุดนั้น
ส่วนผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากระดับ 55.7 เป็น 56.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา
ทั้งนี้เป็นผลมาจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลงส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงสถานการณ์สถาบันการเงินของโลกเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลงและมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 51.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม 53.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 65.1 ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคมแสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น
ด้านนางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นไม่นานนี้ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคงประมาณการ การขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่ระดับเดิม 3.7% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่คาดปีนี้ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาราว 28.5 ล้านคน ทั้งนี้ประมาณการเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ขยายตัวที่ 4.3% จากครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 3.0%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายสำคัญหลายด้านในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากจัดตั้งได้ล่าช้าเกินกว่าไทม์ไลน์ที่กำหนดเดิมในเดือน ส.ค.2566 อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ และกรณีเลวร้ายสุดที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว และมีความยืดเยื้อทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล อาจกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจให้เติบโตได้เพียงระดับ 2.0-2.5% เหมือนที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ก่อนหน้านี้
ขณะที่ อิสระ บุญยัง ประธานกรรมการ กานดา พร็อพเพอร์ตี้กรุ๊ป และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยถึงกรณีที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ภาคเอกชนต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลใหม่ โดยไม่เกิดความรุนแรงขึ้นมาจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ดังนั้นต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายเคารพการแสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยอยู่ภายใต้กฎหมายที่ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและชุมนุมได้
สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่จะมีความล่าช้า ส่งผลให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐอาจถดถอยลง ขณะที่ภาคเอกชนต้องเผชิญปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสวนทางกับกำลังซื้อของคนที่ลดลงจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจไทย
ส่วน สมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบในระยะสั้น โดยเชื่อว่าสถานการณ์การเมืองจะไม่เกิดความรุนแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยในส่วนของธุรกิจได้ปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งช่วงครึ่งปีหลังนั้น ผู้ประกอบการจะมีการจัดแคมเปญและเปิดตัวโครงการใหม่รองรับดีมานด์ที่กลับเข้ามาทั้งคนไทยและต่างชาติไว้แล้ว
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเมืองยืดเยื้อ มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุน ทั้งในตลาดหุ้น และการลงทุนของเอกชนได้
โดยปัจจุบันแรงขณะนี้แรงขับเคลื่อนเดียวของเศรษฐกิจไทย คือการท่องเที่ยว แต่หากสถานการณ์ลากยาว แถมลามให้เกิดการประท้วง จนนำไปสู่ความไม่สงบในประเทศ เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวทันทีถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันต้องจับตาใกล้ชิดวันต่อวัน และอาจเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าข้อสรุปจะไปทิศทางไหน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าการเมืองไทยอาจถึงทางตัน ที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ จนไม่สามารถมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศลากยาวออกไป เชื่อว่าผลกระทบจะมี 3 ด้าน
1.กระทบการลงทุนภาครัฐที่อาจหดตัวกว่าที่คิด จากเดิมที่คาดรัฐบาลตั้งใน ส.ค.นี้ หากเลื่อนไปไม่ทันไตรมาส 3 หรือหากลากยาวถึงปลายปีหรือปีหน้า จะกระทบการใช้จ่ายภาครัฐและงบประมาณภาครัฐที่จะไม่มีแรงขับเคลื่อนส่วนนี้เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจไม่เห็นการลงทุนใหม่จากภาครัฐ รวมถึงกระทบการก่อสร้างของภาคเอกชน
2.กระทบความเชื่อมั่นตลาดเงินและภาคการลงทุน เพราะขณะนี้เป็นห่วงที่โลกมีการย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะจีนที่เข้ามาอาเซียนมาขึ้น หากประเทศไทย ไม่มีความแน่นอนทางการเมือง อย่างมีเสถียรภาพ อาจกระทบทำให้ทุนใหม่ๆ ไม่เลือกเข้ามาลงทุนไทย และย้ายฐานการผลิตไปอินโดฯ เวียดนามได้ ดังนั้นหากสถานการณ์การเมืองล่าช้า เราอาจสูญเสียโอกาสในการเปิดรับการลงทุนใหม่ๆได้ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ รวมถึงอาจไม่เห็นการลงทุนใหญ่ หรือลงทุนเครื่องใหญ่ๆในระยะอันใกล้นี้
3. ภาคครัวเรือน แม้ไม่มีประท้วงทางการเมืองกำลังซื้อของประชาชนระดับล่างยังชะลอตัว ฟื้นตัวเฉพาะระดับกลาง ระดับบน ดังนั้นหากไม่เข้ามาพยุงเศรษฐกิจจะทำให้ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและเอสเอ็มอี ซึ่งหากไม่มีมาตรการรัฐบาลเข้ามาเยียวยาจะทำให้เปราะบางมากขึ้น
“เราห่วงว่าหากการเมืองยืดเยื้อจนนำไปสู่ การประท้วงรุนแรงที่กระทบต่อช่วงไฮซีซั่นของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4แน่นอน จากเดิมที่เรามองจีดีพีไตรมาส 4 โตเฉียด 5% แต่หากผลกระทบจำกัดเฉพาะไตรมาส 3 แล้วจบ ดังนั้นก็หวังว่าสถานการณ์จะไม่บานปลาย”
สุริยา พูลวรลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอกชนคงไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าผลการโหวตออกมาไม่เป็นไปอย่างผลการเลือกตั้ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ขอให้ทั้ง 8 พรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จับมือให้แน่นจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคก้าวไกลและพรรค เพื่อไทยให้ได้ ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนขั้ว เพราะประชาชนได้เลือกมาแล้ว
"ภาคธุรกิจอยากให้การเมืองมีความชัดเจนโดยเร็ว ใครจะเข้ามาบริหาร ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะน่าจะเป็นผลดีต่อทุกธุรกิจ เราไม่อยากให้มีปัญหา มีความขัดแย้ง ซึ่งหากพรรคก้าวไกลไม่ได้ ก็ไม่อยากให้มีคนลงถนน เพราะไม่เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย แต่เราก็ห้ามคนที่อยากลงถนนไม่ได้ แต่ขอให้อย่ามีเหตุรุนแรงขึ้น" นายสุริยากล่าว และว่า เนื่องจากบริษัทพัฒนาโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรีเป็นหลัก จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่บริษัทมีแผนตั้งรับหากการเมืองยังไม่นิ่ง อาจต้องเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่ในส่วนของคอนโดมิเนียม 2 โครงการ มูลค่า 8,000 ล้านบาทออกไปก่อน จากเดิมเตรียมจะเปิดตัวไตรมาส 4/2566 รวมถึงดูปัจจัยอื่นทั้งภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและนอกประเทศประกอบด้วย
ส่วน วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองอยู่ระหว่างโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า จากการหารือกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ พบว่ามีความเข้าใจในสถานการณ์ หากมีการชุมนุมทางการเมืองในกรณีโหวตนายกฯไม่เป็นไปตามที่หวัง ต้องถือว่าเป็นอุดมการณ์ ทุกฝ่ายสามารถมีได้ในระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายหรือรุนแรง จนกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศในภาพรวม
"นักลงทุนเข้าใจในการสนับสนุนหรือ กองเชียร์ของแต่ละฝ่าย แต่คาดหวังว่าทุกฝ่ายจะดำเนินการกันภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย" วีริศกล่าว และว่า ได้สอบถามนักลงทุนที่ลงทุนในไทยต่างเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยอยู่แล้ว ส่วนนักลงทุนรายใหม่ กนอ.ชี้แจงอย่างต่อเนื่องว่านโยบายด้านการลงทุนของไทยจะคงเดินหน้าต่อไปแม้เปลี่ยนรัฐบาล เห็นจากที่ผ่านมามีความต่อเนื่องตลอด กนอ.จะมุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามหมุดหมายที่วางไว้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต้องการให้ การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม เป็นไปตามไทม์ไลน์ เพื่อให้มีรัฐบาลคอยขับเคลื่อนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดผู้แทนคณะรัฐบาลออกไปชักจูงการลงทุน จะมีระดับผู้นำรัฐบาลนำคณะพบกับนักลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจ ดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ