“ถ้าคุณจะปฏิบัติต่อประชาชนมันต้องปฏิบัติแบบเป็นผู้ใหญ่ เขาเลือกเองได้ แม้แต่ศาสนาที่มีพระเจ้า เขายังคิดเลยว่ามนุษย์มีตัวเลือกทางศีลธรรมที่พวกเขาเลือกเองได้ ไม่งั้นพระเจ้าก็กำหนดให้ทุกคนเป็นคนดีก็ได้ใช่ไหม ถามว่าทำไมคนหนึ่งถึงเลือกอย่างนั้น อีกคนหนึ่งถึงเลือกอย่างนี้? เพราะมันคือศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ไง แม้แต่ศาสนาที่มีพระเจ้าเขายังเชื่อแบบนี้เลยว่ามนุษย์มันเลือกเองได้ เราเป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ทำไมถึงคิดว่าศาสนิกชนคิดเองไม่ได้?”
พระพุทธเจ้าห้ามดื่มเหล้าจริงไหม?
แล้วทำไมพระที่ญี่ปุ่นเปิดบาร์ได้ไม่บาป?
สุรากับศาสนามีมิติอื่นที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันนอกจากศีลธรรมอันดีบ้างไหม?
การควบคุมสุราของรัฐไทย ส่งผลต่อความเข้าใจที่คนมีต่อศาสนาพุทธอย่างไรบ้าง?
วอยซ์ นั่งคุยกับ ‘อาจารย์ตุล’ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาเรื่องปรัชญาอินเดีย ศาสนาฮินดู และศาสนาอื่นๆ ในมิติที่เกี่ยวข้องกับสังคมปัจจุบัน
‘ดื่มเหล้าเป็นบาป’ พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ชัดๆ เลยไหม?
ต้องเข้าใจด้วยว่า พุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาเทวนิยม คือไม่ได้มีพระเจ้าผู้บัญญัติทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นกฎต่างๆ ในพระพุทธศาสนามันไม่ได้เป็นเทวบัญญัติ มันไม่มีการตัดสินฉับเลยว่าอันนี้พระเจ้าสั่งมาว่าห้ามทำเด็ดขาด ผิด 100% นี่ไม่ใช่หลักคิดของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแบบธรรมชาตินิยม คือเชื่อว่ามีกฎบางอย่างในธรรมชาติอยู่ แต่ว่ากฎนี้มันเป็นกฎกว้างๆ ไม่ได้มีกฎทางศีลธรรมที่ฟันธงเลยว่าสิ่งนี้ผิด
เท่าที่มีหลักฐานข้อบัญญัติเรื่องการดื่มสุรา มันปรากฏอยู่ในสองลักษณะ หนึ่งก็คือปรากฏอยู่ในเบญจศีล ก็คือศีลห้า ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับศาสนิกชนทั่วไป แต่ว่าการใช้คำในศีลห้า มันไม่ได้พูดเจาะจงเฉพาะเหล้านะ ‘สุราเมรย’ คือของที่กลั่น ของที่หมักดอง ของที่ทำให้เกิดความมึนเมาทั้งหมดมันรวมอยู่ในหมวดนี้
สองก็คือที่ปรากฏอยู่ในพระวินัยของพระภิกษุ แต่ว่าในพระวินัยของพระภิกษุ ไม่ห้ามในกรณีที่เป็นยา เพราะในแพทย์แผนโบราณมันต้องอาศัยสุราเป็นกระสายยาใช่ไหม น้ำที่มาเป็นตัวทำละลายยามันมีทั้งเหล้า ทั้งแอลกอฮอล์อย่างอื่น เพราะฉะนั้นในพระวินัยของพระภิกษุเขาไม่ได้ห้ามเด็ดขาดนะครับ เขาห้ามไม่ให้ใช้จนมึนเมา มีลิมิตบอกไว้ ซึ่งก็เป็นศัพท์เชิงเทคนิกมากๆ ว่าลิมิตได้แค่ไหนอย่างไร ซึ่งแสดงว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามขาดนะ
ฉะนั้นการกินเหล้านั้นบาปไม่บาป ผมคิดว่ามันก็ต้องย้อนกลับไปที่หลักคิดของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเน้นที่ตัวเจตนารมณ์ ผมคิดว่าต้องเข้าใจพระพุทธศาสนาในแง่นี้ก่อน เพราะมิฉะนั้น ทำอะไรปุ๊บมันก็จะบาปไปหมด ไม่ว่าเราจะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ตาม ในเมื่อมันไม่ได้เป็นเทวบัญญัติ บาปจึงเป็นคุณลักษณะทางจิตใจนะครับ ถ้าสิ่งที่ทำมันไปทำลายคุณลักษณะบางอย่างของจิตใจ มันก็เป็นบาปในแง่นั้น ผมคิดว่าต้องเข้าใจประเด็นนี้ให้ชัด ไม่เช่นนั้นพุทธศาสนาก็จะกลายเป็นศาสนาแบบเทวบัญญัติ กินเหล้าหยดเดียวก็ผิด ไม่ใช่ ไม่มีวิธีคิดแบบนี้
แล้วต้องเข้าใจมิติเรื่องศีลใหม่ด้วย เพราะศีลในพระพุทธศาสนามันไม่ใช่ข้อห้าม พุทธศาสนาไม่ได้มีข้อบัญญัติที่ห้าม ห้าม ห้าม อย่างที่เราเข้าใจ ศีล แปลว่า ปกติ อะไรที่คุณทำแล้วเกิดเป็นความปกติของคุณ อันนี้คือศีล
จากการสัมผัสบูชาเทพสู่ข้อห้ามทางศีลธรรม บทบัญญัติเรื่องสุราในศาสนาพุทธเกี่ยวข้องกับบริบททางการเมือง
คนมักจะอธิบายต่อว่า ตัวหลักฐานทั้งสองอย่างที่ปรากฏในเรื่องข้อบัญญัติเกี่ยวกับสุรา มันมีที่มาที่ไป
จริงๆ แล้วในศาสนาโบราณของฮินดูเขากินเหล้ากัน เรียกว่าน้ำโสม มันถูกใช้ในพิธีกรรมพระเวทของชาวอารยัน ถือว่าเป็นของดีของวิเศษเลยนะครับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฝรั่งเขาเรียกว่า ‘สปิริต’ คือของพวกนี้มันทำให้เราเข้าถึงสภาวะบางอย่างของจิตใจ ในฮินดูโบราณ การดื่มน้ำโสมมันทำให้เรารู้สึกเคลิบเคลิ้ม ทำให้เราได้สัมผัสโลกที่ไม่ใช่โลกที่เราอยู่อาศัย ทำให้เราสัมผัสกับทวยเทพ
ปรากฏว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นทีหลัง มันก็เป็นลักษณะที่ศาสนาใหม่จะต้องมีลักษณะที่ต่อต้านหรือปฏิรูปความเชื่อเดิม ในศีล 5 ข้อถ้าเราไปเทียบของพระพุทธศาสนากับฮินดูนะ เหมือนกันเป๊ะเลย ต่างกันข้อเดียวคือเรื่องห้ามดื่มเหล้า ซึ่งอันนี้เข้าใจได้ว่า พุทธศาสนาอาจจะมองว่ามันเป็นวิธีการปฏิเสธขนบ พิธีกรรมของศาสนาพระเวท เพราะฉะนั้นบัญญัติเรื่องดื่มเหล้ามันก็มีนัยยะเชิงประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างศาสนาอยู่ด้วย
แล้วอย่างที่บอกว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ห้ามเด็ดขาด คำอธิบายของครูบาอาจารย์รุ่นหลังก็ยังบอกเลยว่า ไอ้ข้อสุดท้ายมันห้ามไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คุณประมาท มันมีเงื่อนไข เพราะฉะนั้นถ้าคุณกินโดยไม่ทำให้เกิดความประมาทพลั้งเผลอ มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดบาปร้ายแรงขนาดนั้น ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือพุทธศาสนาไม่ใช่นิกายเถรวาท เช่น พุทธศาสนาวัชรยานก็มีเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม
ลองมองสุราเมรัยให้ไกลกว่าวิธีคิดแบบพุทธเถรวาท
ถ้าเราย้อนไปในศาสนาโบร้าณโบราณเลยนะ เหล้านี่มันต้องเกิดจากการมีผลผลิตเหลือเฟือ คือคุณปลูกข้าวได้เกินจำนวนกิน คุณเลยสามารถเอาข้าวนั้นไปผลิตเป็นเหล้าได้ สุราจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ด้วยในวิธีคิดของศาสนาสมัยโบราณ เหล้ามันจึงถูกใช้เป็นเครื่องบูชา
อย่างในพระพุทธศาสนาวัชรยาน มีการบูชาเหล้าแก่เทพผู้ปกป้องพุทธศาสนาที่เรียกว่าเหล่าธรรมบาล พวกเขาเคยเป็นผีหรือเป็นเทพพื้นเมืองมาก่อน นี่คือในประเพณีของพุทธนะ ไม่ได้รังเกียจเลยว่าเหล้าเป็นของเลวร้ายเอาเข้ามาในวัดไม่ได้ นอกจากนี้ยังใช้เหล้าในพิธีกรรมบางอย่าง เช่น ใช้ปรุงอำมฤตย์หรือยาพิเศษโดยพระภิกษุนี่แหละ จะมีถ้วยที่มีทั้งสุราและยาสมุนไพรต่างๆ ใส่รวมกัน แล้วก็แจกจ่ายของพวกนี้ในพิธีกรรม โดยไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งน่ารังเกียจหรือสิ่งเลวร้าย เพราะว่าสำหรับพุทธวัชรยาน ของมันจะบริสุทธิ์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ตัวมันเอง แต่ด้วยสิ่งที่เราเพ่งมองมัน และมุมมองที่เรามีต่อมัน เพราะฉะนั้นแม้แต่เหล้า จากเป็นยาพิษร้ายก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขแก่จิตใจได้ด้วยมุมมองที่เรามีต่อมันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดได้จากการภาวนา
หรือแม้แต่ในญี่ปุ่น พุทธสายมหายานซึ่งเขาค่อนข้างเปิดกว้าง เขาก็มองว่า มันมีวิธีและกุศโลบายตั้งหลายอย่างที่เราจะใช้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่มีความทุกข์ คนในโลกยุคใหม่ เวลาทุกข์เขาไปไหน? เขาไม่ได้ไปวัด เขาไปร้านเหล้า แล้วทำไมพุทธศาสนาถึงไม่ลงไปอยู่ตรงนั้นล่ะ? ทำไมต้องไปยืนอยู่บนพานแล้วก็รอให้เขาคลานเข่ามาหา ในเมื่อเขามีความทุกข์ ทำไมคุณไม่กระโจนลงไปอยู่กับความทุกข์ของเขา? เพราะฉะนั้นเขาจึงมีไอเดียว่า พระก็เปิดร้านเหล้าแล้วกัน แต่ร้านนั้นคุณจะเมากันปลิ้นเลยก็ไม่ใช่ แทนที่จะฟังเพลงจนยิ่งทุกข์ ก็มาฟังเพลงที่ทำให้เกิดแว้บคิดอะไรขึ้นมาบ้าง พระก็คอยรับฟังคุณด้วย ขณะเดียวกันคุณก็ไม่ต้องพนมมือไหว้ คุณก็จิบไปคุยกับพระไป นี่มันวิธีคิดแบบพุทธ
ผมคิดว่าอันนี้มันพุทธมากๆ เลยนะ คือแทนที่คุณจะเห็นความทุกข์คนอื่น แล้วคุณก็นั่งรอเขาว่า ‘เออ มึงคลานเข่ามากราบกู แล้วอธิบายความทุกข์ให้กูฟังแล้วกัน แล้วมึงก็ถวายซองให้กูด้วย’ ไม่ใช่ เราต้องลงไปอยู่กับเขา กระโจนลงไปอยู่ในความทุกข์กับเขา ไปเปิดพื้นที่ให้เขาได้เข้ามาสัมพันธ์กับคุณ มันเป็นหน้าที่ของคุณ
แคมเปญ ‘งดเหล้า’ ในเทศกาลที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา สะท้อนอะไร?
ทำไมไม่ให้พระโคงดเหล้าบ้างอะ พระโคกินเหล้าโชว์ออกทีวีทุกปีไม่เห็นจะมีใครไปเซ็นเซอร์หรือจัดการเลย นั่นก็งานทางศาสนา จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระโคกินเหล้านะ แต่พอคนแม่งห้าม วัวกินได้ กินออกทีวีด้วย
ผมคิดว่าการมีความพยายามรณรงค์ไม่ให้กินเหล้าในพิธีทางศาสนา โอเค มันก็เข้าใจได้ว่า มันมีการกินกันแบบเละเทะกันก็มี แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ฟังก์ชันของเหล้า ย้อนกลับไปเรื่องพระโคก็ได้ สังเกตนะว่า ถ้าพระโคกินเหล้า เขาก็จะทำนายว่า บ้านเมืองจะมีการเจรจาระหว่างประเทศ มีการติดต่อสัมพันธ์กัน อ้าว มึงก็เห็นนี่ว่าเหล้ามันทำหน้าที่อะไร เหล้ามันมีไว้แบบนี้ มันมีไว้สังสรรค์ มันมีไว้เฉลิมฉลองในเทศกาลที่เขารู้สึกว่ามันสมควรที่คนควรจะมารวมกัน มาเฉลิมฉลองกัน ถามว่าแล้วมึงจะไปตัดมิตินี้ออกจากชีวิตชาวบ้านเหรอ? ผมคิดว่าฟังก์ชันของเหล้าในงานพิธีมันเป็นแบบนี้
คุณต้องเข้าใจว่าเวลามันมีพิธีทางศาสนา เช่น งานศพ มันก็เป็นภาวะที่คนก็ต้องมาปลอบประโลมจิตใจกัน มันก็จะมีของพวกนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการมารวมตัวกัน ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแปลกอะไรเลย ถ้ากินแล้วสามารถดูแลกันเองได้
สิ่งหนึ่งที่ควรเน้นย้ำมากกว่า คือถ้าเรากินเหล้ากัน เราจะดูแลกันอย่างไร เราไม่ให้การศึกษาเรื่องนี้กันเลย ของเรามาปุ๊ป ‘ห้ามแดก มากน้อยมึงก็ห้ามแดก’ แทนที่เราจะบอกว่า เราจะเรียนรู้การกินเหล้ากันอย่างไรให้เป็นสุภาพบุรุษ กินเหล้ากันอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย กินเหล้าอย่างไรแล้วไม่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ เฮ้ย สังคมไม่เคยพูดเรื่องนี้เลยว่ะ มาปุ๊บห้ามแม่งเลย ‘เฮ้ย! อย่ากินเหล้าไม่ดี วันสำคัญทางศาสนาอย่าไปกิน งานศพงานบวชอย่าไปกิน’ คิดเป็นมิติเดียว ไม่คิดเลยว่าฟังก์ชันของเหล้าคืออะไร เหล้ามันมีมาก่อนมึงเกิดอีก วิธีการหมักเหล้าแม่งเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติ แล้วแทนที่มึงจะเรียนรู้วัฒนธรรมโบราณ แหม พอทีอย่างอื่น โบราณประเพณีมึงก็รักกันมากเลย เหล้านี่โคตรโบราณเลยเสือกไม่สนใจ จะห้ามอย่างเดียว ผมคิดว่ามันคิดแบบมิติเดียวเกินไป
ถ้าเราสามารถมีกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดการผลิตเหล้า ผมเชื่อว่ามันก็จะมีคุณภาพมากกว่าที่มันเป็นอยู่ มีความหลากหลาย มีการดูแลกันในชุมชน กลายเป็นอะไรที่มันรุ่มรวยขึ้นมาได้ แต่ไม่เชื่อใจประชาชนไงรัฐแบบนี้
การห้ามดื่มสุราด้วยข้ออ้างทางศาสนา รัฐไทยกำลังทำให้ศาสนาพุทธเป็นเผด็จการไปด้วย?
สุดท้ายแล้วรัฐไทยใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการควบคุมความประพฤติของประชาชน พูดเน้นย้ำว่า การดื่มสุราเป็นบาปหนัก เป็นเรื่องร้ายแรง ถ้าเรากลับไปดูจริงๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไรขนาดนั้น มันเป็นเพียงแค่ข้อกำหนดทางศีลธรรมกว้างๆ ที่มันมีไว้สำหรับศาสนิกชนเท่านั้นเองเพื่อที่คุณจะไม่ละเมิดคนอื่น จริงๆ ศีลห้าเป็นเรื่องของการไม่ละเมิดคนอื่น ตราบใดที่คุณไม่ละเมิดคนอื่น อยู่ในความปกติ มันก็ไม่ได้เป็นการผิดศีลอะไร แต่พอรัฐมันเน้นย้ำเรื่องนี้มากเข้าๆ เราก็พลอยเข้าใจไปด้วยว่าระบบศีลธรรมของพุทธมันเป็นแบบนี้ มันตายตัว มันชัดเจน มันเป็นบาปที่ร้ายแรง
ต้องกลับไปมองรัฐไทยว่า เหตุใดถึงพยายามเชิดชูมิติเรื่องนี้ของศาสนา? เราจะเห็นว่ารัฐสมัยใหม่โดยเฉพาะรัฐประชาธิปไตย มันมีคอนเซปต์ที่คุณจะต้องไม่เอาข้อกำหนด หลักคิด และความเชื่อทางศาสนา มาเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายหรือสังคม ซึ่งอันนี้มันเป็นหลักสากลพื้นฐานของสังคมที่เป็นรัฐฆารวาส (Secular state) แต่ของเรามันไม่ใช่ เรามีกฎหมายห้ามขายสุราในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นรัฐสมัยใหม่
ที่สำคัญถ้าเรามองย้อนกลับไปอีกว่า เฮ้ย รัฐหวังดีกับเราเหรอ? หรือตกลงเราเป็นรัฐพุทธ 100% เหรอ ผมก็คิดว่าไม่ใช่ มันมีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องอีก มีระบบทุน การเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดการขายสุรา มันก็ซ้อนทับกันอยู่แบบนี้ เพียงแต่เราใช้พระพุทธศาสนาเป็นฉากหน้า และจริงๆ ไม่ได้เป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนาเลย
ถ้าคุณจะปฏิบัติต่อประชาชนมันต้องปฏิบัติแบบเป็นผู้ใหญ่ เขาเลือกเองได้ แม้แต่ศาสนาที่มีพระเจ้า เขายังคิดเลยว่ามนุษย์มีตัวเลือกทางศีลธรรมที่พวกเขาเลือกเองได้ ไม่งั้นพระเจ้าก็กำหนดให้ทุกคนเป็นคนดีก็ได้ใช่ไหม ถามว่าทำไมคนหนึ่งถึงเลือกอย่างนั้น อีกคนหนึ่งถึงเลือกอย่างนี้? เพราะมันคือศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ไง แม้แต่ศาสนาที่มีพระเจ้าเขายังเชื่อแบบนี้เลยว่ามนุษย์มันเลือกเองได้ เราเป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า ทำไมถึงคิดว่าศาสนิกชนคิดเองไม่ได้?
เราบังคับทุกคนโดยใช้หลักทางศาสนา กลายเป็นว่าศาสนาพลอยเป็นเผด็จการไปด้วยเหรอ? คือต่อให้ฉันเป็นพุทธไม่เป็นพุทธ วันของศาสนาพุทธ กูห้ามกินเหล้า กูจะจิบก็ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ยิ่งไปกว่านั้นอีก บางวันที่ไม่ใช่วันศาสนาก็ห้ามด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันประหลาดมากเลย รัฐปฏิบัติกับเราแบบเป็นเด็กน้อยมาก เป็นรัฐที่ไม่เชื่อในวุฒิภาวะของประชาชน
ศาสนากับสุราก็คล้ายกัน ความเชื่อและรสชาติที่หลากหลายมักมาจากภาคประชาชน
พุทธเถรวาทผูกพันกับอำนาจรัฐมานานแสนนาน และต่างใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน พุทธศาสนาในไทยเองก็ได้ประโยชน์จากรัฐ ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่รัฐไทยจะไปหยิบเอาวิธีคิดจากพุทธศาสนาแบบอื่นมาใช้ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตราบใดที่ยังมีโครงสร้างอำนาจที่มันผูกพันกันก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นมูฟเมนต์ของพุทธศาสนาแบบอื่นๆ มันก็เลยเกิดขึ้นในภาคประชาชน เพราะว่าแบบเดิมของรัฐมันไม่ใช่คำตอบแล้ว ยกเว้นว่าเราค่อยๆ พัฒนารัฐไปสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มันเปิดกว้างมากขึ้น
ปัญหาอย่างหนึ่งคือแม้กระทั่งในระบบการศึกษา เราแทบไมได้รู้จักชาวพุทธแบบอื่นเลย เขาก็เน้นแต่แบบไทย แบบเถวรวาท กว่าเราจะมารู้ เราก็โตมากแล้ว แล้วเราก็ไม่เอาอะไรพวกนี้แล้ว จริงๆ แล้วผมคิดว่า ถ้าเราอยากเริ่มเปิดพื้นที่ให้คนเราได้รู้จักพุทธศาสนาแบบอื่น ระบบการศึกษาก็ต้องเปลี่ยน ต้องบรรจุเรื่องพวกนี้ลงไปในตำราด้วย ถามว่ายากไหมก็ยาก เพราะตำราเรียนของเรามันไม่ได้ทำมาเพื่อให้เรารู้ มันเรียนเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์บางอย่าง การจะไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหาก็เท่ากับว่าเราไปเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์บางอย่างด้วย ซึ่งรัฐและผู้มีอำนาจเขาไม่ยอมหรอก ก็คงต้องเป็นงานของฝั่งประชาชนที่ต้องต่อสู้เรื่องนี้ ช่วยกันสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ
สังคมไทยสูญเสียหลายอย่างจากการมองสุราผ่านการตีความพุทธเถรวาทที่คับแคบ
เราคิดไปว่า ถ้าเราส่งเสริมให้มีสุราครัวเรือนและการผลิตสุราเสรี คือการส่งเสริมการละเมิดศีลห้า บาปแน่นอน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มองเลยว่าเจตนารมณ์ของการทำแบบนี้คืออะไร แล้วประโยชน์ที่เกิดขึ้นคืออะไร คิดแค่แคบๆ จากบทบัญญัติที่เป็นตัวอักษร ผมคิดว่าทุกวันนี้เราพยายามตีความแบบตายตัวตลอด ตามตัวอักษรด้วยนะ ไม่ใช่ว่าตีความแบบนี้ไม่ได้นะ แต่มันมีการตีความตั้งหลายอย่าง แต่เราเข้าใจแบบเดียว เช่น ถ้าผมอยากจะต่อสู้เพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ผลิตสุราที่มีคุณภาพ เกษตรกรสามารถแปรรูปผลผลิตของพวกเขามาสู่การผลิตสุราที่มีคุณภาพ คนกินก็ได้กินสุราที่มีคุณภาพราคาถูกได้ อันนี้บาปหมดเลยว่ะ ทั้งที่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นคุณไม่ได้คิดเลย
พอเราตีความพุทธศาสนาตามตัวอักษรเป๊ะๆ ไม่ได้มีวิธีเข้าใจแบบอื่น หลายครั้งสิ่งที่มันจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อสังคมและพุทธศาสนาจึงไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เราไปคิดว่าสุราหยดเดียวก็บาปแล้ว เราจึงไม่คิดถึงการสังสรรค์อย่างมีวุฒิภาวะ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การจะช่วยเหลือเกษตรกร การไม่คิดถึงมิติเหล่านี้ มันทำให้ประโยชน์ที่สังคมควรได้รับหายไปหมดเลย คือคิดแค่ว่า ‘สุรา เมา เมามึงต้องขับรถชนคนตาย’ เท่านั้นอะ แล้วทำไมมึงไม่ให้ความรู้ล่ะ? ของเราเวลาพูดถึงการ ให้ความรู้ เราพูดแค่ว่า ‘เหล้ามีพิษภัยอย่างไร’ แต่ไม่เคยสอนเลยว่า ในแง่ประโยชน์หรือมิติที่ลึกกว่านั้นคืออะไร มันมีความเป็นมาอย่างไร เราจะกินมันอย่างมีคุณภาพอย่างไร หรือการเปิดให้มีการผลิตตามภูมิปัญญาต่างๆ สุดท้ายมันก็จะสร้างคุณภาพของการผลิตสุราอีกมากมาย ฮอปส์ชนิดนี้ดีอย่างไร ชนิดนั้นดีอย่างไร องค์กรการศึกษาเองก็ได้ประโยชน์จากการศึกษาวิจัย แต่ของเรานี่ไม่ได้เลยนะจะไปศึกษาเรื่องเหล้านี่ถูกเพ่งเล็งแล้ว เราคิดได้แบบเดียวคือ ใช้กฎหมายควบคุม แล้วเป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่บนวิธีคิดทางศานาเท่านั้น แล้วก็ไปรณรงค์ในแง่เดียวคือทำให้เห็นพิษภัยหรือโทษ กลายเป็นว่าเราปิดกั้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอีกมากด้วยความคิดทางศาสนาของเรา
จริงๆ ยังมีเรื่องอื่นอีกมาก เช่น การบวช ที่เราปิดกั้นผู้หญิง ปิดกั้น LGBTQ โดยตีความตายตัวตามตัวอักษร เราไม่มานั่งถกเถียงกันก่อนเลยด้วยซ้ำว่า เอ้อ เจตนารมณ์ของพระวินัยมันคืออะไรวะ ตกลงเรื่องที่ถูกเขียนไว้เราจะตีความและเข้าใจมันได้อย่างไรบ้าง พื้นที่ตรงนั้นเรายังไม่มีเลย สุดท้ายก็ต้องมีใครสักคนที่มีอำนาจมาบอกว่า ‘ไม่ได้เว้ย’ จบ สังคมเรายังไม่ต้องพูดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเลยนะครับ เอาแค่การสร้างพื้นที่ถกเถียงเรายังไม่มีเลย เพราะว่าเราเต็มไปด้วยระบบอำนาจ มีอำนาจจากส่วนกลางสักที่โยนเข้ามาเลยบอกว่า ห้ามทำ ก็จบเลย ยังไม่ทันเถียงกันเลยว่าดีไม่ดี ผมคิดว่าสังคมเสียประโยชน์เยอะแยะเลย ทั้งประโยชน์จริงๆ ที่เราเห็นได้ หรือแม้กระทั่งประโยชน์ทางสติปัญญาก็ไม่มี
ขัดกับแก่นไหม? พระพุทธเจ้าจะมองรัฐไทยอย่างไร?
โอ้โห ขัดกับแก่นแน่นอน เพราะเราพูดโปรโมทกันอยู่นั่นแหละว่าพระพุทธศาสนาเป็นศานาแห่งสติปัญญา เป็นศาสนาแห่งเหตุผล แล้วในเชิงปรากฏการณ์ คุณเห็นการใช้เหตุผลมากน้อยแค่ไหน? ผมก็เห็นเขาใช้แต่อำนาจ มันไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าองค์กรพุทธหรือชาวพุทธส่วนหนึ่งจะมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้เชิงเหตุผล
ถ้าคุณกลับไปดูแม้แต่ในพระพุทธประวัติ แม้กระทั่งในพระไตรปิฎกเอง โอ้โห พระพุทธเจ้านี่ชอบเถียงมากเลย แล้วนั่นไม่ใช่การใช้เหตุผลเหรอ? กลายเป็นว่าเรามองทุกอย่างผ่านวิธีคิดแบบอำนาจหมดเลย เพราะเราอยู่ในสังคมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจ เพราะฉะนั้นผลประโยชน์แรกที่เสียเลยคือประโยชน์ในทางสติปัญญา แล้วนี่จึงเป็นเหตุผลที่คุณไม่ต้องมานั่งโปรโมทพระพุทธศาสนาหรอก ว่าทำไมคนรุ่นใหม่เขาไม่เอาพระพุทธศาสนา ก็มึงทำกันอย่างนี้ แทนที่จะเปิดพื้นที่ให้เขาตั้งคำถาม ให้เขาถกเถียง ก็ไปตีตราว่าการตั้งคำถามการถกเถียงเป็นเรื่องบาป เป็นเรื่องเลวร้ายซะแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้าคนรุ่นใหม่เขาจะไม่เอาด้วย แล้วถ้าไปโปรโมทอะไรที่มันเล่อล่าล้าสมัยอีก ก็ยิ่งตลกเข้าไปอีกในสายตาของคนรุ่นใหม่ ถ้าคุณเริ่มเปิดพื้นที่ ตัดมิติเชิงอำนาจทั้งหมดออกไป มันก็จะค่อยๆ งอกงามขึ้นมาเอง
ผมเคยคุยกับเพื่อนเล่นๆ เลยว่าถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ในโลกปัจจุบัน แล้วเดินไปที่ประชุมเถรสมาคม ลองเดินไปดูตลาดขายพระ ลองไปเดินดูวัดต่างๆ พระพุทธเจ้าจะคิดอย่างไร? ไม่รู้สิ ผมก็ไม่รู้
ลองคิดกันดูเล่นๆ ก็ได้นะว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ในโลกปัจจุบัน ท่านจะคิดอย่างไร
เรื่อง: วิรดา แซ่ลิ่ม, ฉัทดนัย ทิพยวรรณ์
ภาพ: ฉัทดนัย ทิพยวรรณ์