สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาว วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกอุ้มหายจากหน้าที่พักกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อปี 2563 และ กึกก้อง บุปผาวัลย์ บุตรชาย ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ภูชนะ ผู้ลี้ภัยไทยที่พบศพลอยน้ำกลางแม่น้ำโขงมายังจ.นครพนม ประเทศไทยไทย เมื่อปี 2561 หลังลี้ภัยใน สปป.ลาว ได้เข้าพบ กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เนื่องในวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคม
สิตานันท์ เปิดเผยว่า พยายามผลักดันคดีวันเฉลิม มากว่า 3 ปี ยังไม่คืบหน้า จึงรอรัฐบาลใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงอยากผลักดันคดีวันเฉลิมให้เป็นเรื่องเร่งด่วน ทางครอบครัวจึงมาขอความรู้จาก สส.กัณวีร์ เพราะน่าจะเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยดี ซึ่งคดีวันเฉลิมเกิดที่กัมพูชา ทาง สส.น่าจะช่วยผลักดันในสภาฯได้ ทางครอบครัวจึงเตรียมผลักดันผ่าน รมว.ยุติธรรม รมว.ต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ จึงฝากทาง สส.กัณวีร์ ให้ติดตาม ผู้ถูกบังคับสูญหายในต่างแดนด้วย
ขณะที่ กึกก้อง เปิดเผยว่า คดีของพ่อเกิดขึ้นในปี 2561 ผ่านมา 5 ปีแล้ว ไม่มีความคืบหน้า รวมแล้วมี 8 ศพจากลาว ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย จึงจะติดตามคดีต่อไป ก่อนจะหมดอายุความ เพราะหวังว่าพ่อจะได้หลับอย่างเป็นสุข
"ผมอยากตามคดีของพ่อต่อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐไทยว่าใครเป็นคนประหัตประหาร สุดท้ายเป็นหน้าที่ของรัฐไทยที่คุ้มครองคนในชาติ จึงหวังว่าคุณกัณวีร์ จะทำให้ญาติได้รับความเป็นธรรมได้ครับ" กึกก้อง กล่าว
กัณวีร์ เปิดเผยว่า เรื่องนี้มี 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งก่อนออกจากประเทศไทยถือว่าเป็นการลี้ภัย เพราะหนีจากการประหัตประหารในประเทศไทย ตามคำนิยาม ผู้ลี้ภัย มี 5 กลุ่ม กลุ่มสุดท้ายเป็น Political opinion เป็นเรื่องความคิดทางการเมืองเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ การสูญหายเกิดขึ้น ทำให้เรามีข้อเชื่อมต่อระหว่างการลี้ภัยและการถูกอุ้มหายที่ต่อเชื่อมกันได้ แต่จะยากที่ไปต่างประเทศ เพราะจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับประเทศที่ไปขอลี้ภัย
"การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ดีที่สุดคือการเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิโดยสมัครใจ สิ่งเหล่านี้เราต้องทำให้ได้ ประเทศไทยเราไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัย เรายังไม่ได้ให้สัตยาบันและไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย จึงเป็นปัญหาตรงนี้ ทำให้เรากำลังผลักดันกฎหมายที่บัญญัติเรื่องผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เพราะเราต้องการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศต่อคนไทยที่ลี้ภัยหนีการประหัตประหารหนีความตายจากประเทศไทยไปทั้งเรื่องเกี่ยวกับการเมือง การเข้าร่วมกลุ่มสังคม เชื้อชาติ และศาสนา เพราะฉะนั้น คนที่ได้ลี้ภัยไปแล้วจำเป็นจะต้องกลับมาประเทศไทยให้ได้ และกลับมาอย่างมีชีวิตอยู่"
กัณวีร์ กล่าวย้ำว่า การกลับมามาตุภูมิของผู้ลี้ภัยต้องกลับมาอย่างมีชีวิต เป็นสิ่งจำเป็นว่า รัฐบาลและกลไกรัฐสภา ต้องดูแลตรงนี้ ถ้าหากตนเองได้เป็นรัฐบาลอาจทำได้มากกว่านี้ แต่จะใช้บทบาทฝ่ายค้านในรูปแบบกรรมาธิการ ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไทย คนที่ถูกอุ้มหายอย่างไม่สามารถเพิกเฉยได้ และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลชุดใหม่ต้องดูแล รวมถึง รมว.ต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม ต้องใช้ทุกองคาพยพในการแก้ปัญหา
"คนที่ถูกอุ้มหาย คนที่ลี้ภัยไปเป็นคนไทย เพราะฉะนั้นคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกนี้จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองจากประเทศไทย" กัณวีร์ย้ำ
สิตานันท์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยท่านหนึ่งได้กลับมา เขากลับมาได้คนเดียวเหรอ แล้วผู้ลี้ภัยคนอื่นล่ะ คนอื่นก็อยากกลับบ้าน แต่เป็น 2 มาตรฐานหรือไม่ ทุกคนต้องเท่ากันไหม ในฐานะผู้ลี้ภัยหรือเป็นนักโทษ พ่อเขาก็อยากกลับบ้านนะ แต่พ่อเขาลอยน้ำมา ผู้ลี้ภัยต้องได้รับอภิสิทธิ์เหมือนคนอื่น ไม่ใช่มาเหนือเมฆแล้วนอนโรงพยาบาลดีๆ
นายกัณวีร์ ยืนยันกับ สิตานันท์ และ กึกก้อง ว่าจะต้องไม่มี 2 มาตรฐานในประเทศเรา เราต้องทำให้กลไกความยุติธรรม เป็นมาตรฐานเดียวกัน เรื่องผู้ลี้ภัยคนหนึ่งได้กลับบ้าน จะเป็นกรณีศึกษาของเราว่ามีผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับมาประเทศไทยได้ ถ้ามุมมองเวทีระหว่างประเทศเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด voluntary repatriation เป็นการกลับมาตุภูมิแบบสมัครใจ เจ้าตัวต้องสมัครใจกลับมา ซึ่งยังมีหลายคนที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ มีหลายคนใช้มาตรฐานเดียวกันที่ให้กลับมาตุภูมิ รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำกรณีนี้
"นี่เป็นสิ่งที่พรรคเป็นธรรมและพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติ พิจารณาเร่งด่วน ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ไม่ใช่แค่ผู้ลี้ภัยมาไทย แต่ต้องดูแลคนไทยที่ลี้ภัยไปต่างประเทศด้วย ผมและเพื่อน สส.กำลังผลักดันเรื่องนี้หวังว่า จะสามารถช่วยเหลือคนไทยที่หนีการถูกประหัตประหาร ให้กลับมาในประเทศเราได้"
กัณวีร์ กล่าวด้วยว่า การถูกอุ้มหายในเวทีระหว่างประเทศให้ความสนใจเรื่องการกดปราบข้ามชาติ Transnational Repression (TNR) หมายถึง คนที่ลี้ภัยไปประเทศที่ลี้ภัยแล้ว ยังโดนประหัตประหารตามล่า จากรัฐบาลตัวเอง เป็นสิ่งที่เวทีระหว่างประเทศให้ความสนใจ ไม่สามารถอดทนได้ องค์การสหประชาชาติ ให้ความสำคัญว่า การกดปราบข้ามชาติ ต้องไม่มีอยู่ รัฐบาลไม่สามารถประหัตประหารคนของตัวเองในประเทศอื่นได้ เพราะไม่มีอธิปไตยเหนือประเทศอื่น แต่เป็นความร่วมมือของสองประเทศนั้นในการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยผู้ลี้ภัยที่จะตั้งขึ้น จะพิจารณาแบบครอบคลุมถึงเรื่องนี้
"ถือเป็นความพยายามของเรา หวังว่าจะเอาพี่น้องคนไทยกลับมาให้ได้ ผู้ลี้ภัยไทยทุกคนต้องได้รับความคุ้มครอง กลับบ้านอย่างมีชีวิต กลับมาโดยสมัครใจ" กัณวีร์ ยืนยันกับครอบครัวผู้สูญหาย