ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์ คาดความต้องการสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกลุ่มเข็มและหลอดฉีดยาทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น หลังคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำเร็จ แนะผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมปรับแผนการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งในและต่างประเทศ และใช้เอฟทีเอช่วยขยายตลาดไปต่างประเทศ

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า เมื่อการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 สำเร็จ ความต้องการสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์กลุ่มที่ใช้ในการฉีดวัคซีน เช่น เข็มฉีดยา หลอดฉีดยา ทั่วโลกจะเพิ่มสูงยิ่งขึ้น เห็นได้จากสถิติการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย. 63) พบว่าหลายประเทศเริ่มสำรองและเพิ่มการนำเข้าเข็มฉีดยา อาทิ สหรัฐอเมริกา นำเข้า 403 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4% ญี่ปุ่น นำเข้า 97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6% ฝรั่งเศส นำเข้า 67 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.4% รัสเซีย นำเข้า 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% เกาหลีใต้ นำเข้า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4% ชิลี นำเข้า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 31% เช่นเดียวกับการนำเข้าหลอดฉีดยาที่เพิ่มขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา นำเข้า 382 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4% ฝรั่งเศส นำเข้า 377 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6% ญี่ปุ่น นำเข้า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 23%) ฮ่องกง นำเข้า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.4% ชิลี นำเข้า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 44% เปรู นำเข้า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 30% เป็นต้น ซึ่งเป็นมูลค่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2562

อรมน กล่าวว่า ไทย มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกเข็มฉีดยาทำด้วยโลหะเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ขณะที่ในภาพรวมของการส่งออกเข็มและหลอดฉีดยา ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 11 ของโลก ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเตรียมความพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมขยายการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ซึ่งประเทศคู่เอฟทีเอของไทยทั้ง 18 ประเทศ ไม่เก็บภาษีศุลกากรจากไทยในสินค้าเข็มและหลอดฉีดยา รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกรายการ ส่งผลให้สินค้าของไทยได้เปรียบด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะทยอยลดเลิกอุปสรรคด้านภาษีในสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ในระยะยาวอีกด้วย

“ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย. 63) ไทยส่งออกสินค้าเข็มฉีดยาและหลอดฉีดยาสู่ตลาดโลก รวม 199.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 แบ่งเป็นการส่งออกเข็มฉีดยาทำด้วยโลหะ 62.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนการส่งออก 31.5%) ขยายตัว 4% เข็มฉีดยาอื่นๆ 134.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนการส่งออก 67.1%) ขยายตัว 14% และหลอดฉีดยาแบบมีหรือไม่มีเข็ม 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วนการส่งออก 1.4%) ขยายตัว 6% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน สำหรับการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยรวม 86.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 43% ของการส่งออกเข็มและหลอดฉีดยาทั้งหมดของไทย ขยายตัว 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562” อรมน กล่าว