ไม่พบผลการค้นหา
ซูเปอร์โพลเผย คนเชื่อมั่นเงินดิจิทัลสูง หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ก.ต.ช.ห่วงระบบเทคโนฯล่ม เอาไม่อยู่ เข้าทางมิจฉาชีพเสนอ3 ทางออก โอนความเสี่ยงภัยไซเบอร์ให้หน่วยงานของรัฐ ธนาคาร ผู้ประกอบการทำแทน ช่วยคนชายขอบ 6 ล้านคนเข้าถึงเงินดิจิทัล จัดตั้งหน่วยงานกลางของรัฐบริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ รัฐหนุนงบศึกษา-สื่อสาร ปมความปลอดภัยไซเบอร์ใหคนรู้เท่าทัน

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566 ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนภาคประชาชนในกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่เป็นอีกบทบาทหนึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายตำรวจแห่งชาติดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่ศึกษาข้อมูลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อนโยบายรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่จะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทพบว่า มีความจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการยอมรับนโยบายแจกเงินดิจิทัลนี้ไปใช้อย่างปลอดภัยและเต็มเม็ดเต็มหน่วยเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล จึงได้ทำการศึกษา เงินดิจิทัลในความปลอดภัยของประชาชนบนโลกไซเบอร์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่าง 2,123 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 28 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วประเทศจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล เศรษฐา พบว่า ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนสูงถึงร้อยละ 71.0 ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 29.0 

เมื่อสอบถามถึงการสนับสนุนให้รัฐบาลลงทุนระหว่างความมั่นคงของชาติ กับ การแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล พบว่า ใกล้เคียงกันในสามกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม คือ ร้อยละ 35.5 สนับสนุนการลงทุนด้านความมั่นคงของชาติ ร้อยละ 31.2 สนับสนุนด้านการแจกเงินดิจิทัล และร้อยละ 33.3 ไม่มีความเห็น

received_998746468091971.jpeg

เมื่อสอบถามถึงประสบการณ์เคยถูกคุกคามไม่ปลอดภัยทางออนไลน์ พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.9 เคยเจอภัยคุกคามทางออนไลน์ค่อนข้างมาก ร้อยละ 35.2 ระบุปานกลาง และร้อยละ 8.9 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่เคยเลย อย่างไรก็ตาม ประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.6 หวาดกลัวค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่ออาชญกรรมทางออนไลน์ ร้อยละ 35.3 ปานกลาง และร้อยละ 14.1 ค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วประเทศเพราะมีค่าความเชื่อมั่นสูงเกินกว่า 70 ขึ้นไป แต่ในบริบทของความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กำลังคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมากในขณะนี้จึงจำเป็นต้องออกแบบวางระบบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างรอบด้านทุกมิติของนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้

“การใช้ระบบเทคโนโลยีแจกเงินดิจิทัลที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่จะใช้เทคโนโลยีนี้โดยมีข้อดีอย่างน้อย 3 มิติคือ ความปลอดภัย ความโปร่งใส และความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนมีการลงรหัสแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ยากต่อการโจรกรรมและมีความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลเห็นหมดใครทำอะไรในระบบนั้นและจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมตรงที่การต่อยอดกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและข้อมูลภายในระบบเทคโนโลยีแจกเงินดิจิทัลที่ได้จะนำมาออกแบบวางแผนสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ การเกาะติดพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ข้อมูลด้านวินัยการเงินของประชาชน ที่จะให้ความแม่นยำแบบกึ่งใกล้เรียลไทม์และสามารถพยากรณ์วางแผนทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลได้มีประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์สูง” ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าว

received_256660920323824.jpeg

ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ความไม่ปลอดภัยนอกระบบบล็อกเชน เพราะประชาชนทำธุรกรรมอื่น ๆ นอกระบบเทคโนโลยีเงินดิจิทัลจำนวนมากเป็นธุระกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบบล็อกเชนและข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอยู่ในมือถือของประชาชนที่ง่ายต่อการถูกโจรกรรมทั้งข้อมูลส่วนตัว เลขบัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร และข้อมูลละเอียดอ่อนอื่น ๆ ของประชาชน ดังนั้นทางออกมีอยู่อย่างน้อย 3 แนวทางได้แก่

1. รัฐบาลควรโอนความเสี่ยงอันตรายทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไปอยู่กับหน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงินการธนาคาร และภาคเอกชน ผู้ประกอบการต่าง ๆ เพราะมีศักยภาพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากกว่าประชาชนชาวบ้านทั่วไปผ่านช่องทางการเข้าถึงการแจกเงินดิจิทัลที่หลากหลาย เช่น ใช้บัตรประชาชนใบเดียวพร้อมมีรหัสประจำบัตร ใช้สมาร์ทโฟนและใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีอื่น ๆ โดยแนวทางนี้จะช่วยลดอันตรายทางไซเบอร์จากพวกมิจฉาชีพออนไลน์ ช่วยลดภาระของชาวบ้านที่ต้องหาเงินซื้อสมาร์ทโฟน แต่แนวทางนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับชาวบ้านผู้มีรายได้น้อยผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเทคโนโลยีตามแนวชายแดนจำนวนกว่า 6 ล้านคนให้สามารถเข้าถึงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลและได้รับประโยชน์จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลนี้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและยั่งยืน

2. รัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานกลางของรัฐบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบทางไกลให้ประชาชนที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายราคาถูกหรือบริการฟรีแต่ปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนต่าง ๆ 

3.รัฐบาลควรใช้งบประมาณส่วนหนึ่งด้านการศึกษาและการสื่อสารความปลอดภัยทางไซเบอร์ในการเสริมสร้างความรู้เท่าทัน ความตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์เพราะวันนี้ประชาชนชาวบ้านมีความกังวลและหวาดกลัวต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน