ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อเอกอัครราชทูตสันนิบาตอาหรับในกรุงไคโร ลาฟรอฟกล่าวว่า พวกชาติตะวันตกได้บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับผลกระทบของการคว่ำบาตรต่อสภาวะความมั่นคงอาหารโลก และเขาได้กล่าวหาชาติตะวันตกพยายามยกตัวเองให้สูงกว่าชาติอื่น
ปัจจุบัน กลุ่มประเทศอาหรับและแอฟริกากำลังขาดแคลนธัญพืชอย่างรุนแรงเนื่องมาจากสงครามในยูเครน โดยลาฟรอฟจะเดินทางเยือนประเทศในทวีปแอฟริกาอีกสามประเทศต่อจากอียิปต์ ได้แก่ เอธิโอเปีย อูกันดา และคองโก-บราซซาวิลล์ เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนรัสเซีย ท่ามกลางความโกรธเคืองของโลกต่อสงครามที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครน
รัสเซียกับยูเครนได้ลงตามกันในข้อตกลงฉบับสำคัญ ที่จะทำให้ยูเครนสามารถส่งออกธัญพืชได้ตามปกติเมื่อช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ค.) ก่อนที่ความตกลงจะหยุดชะงักลงอีกครั้ง เนื่องจากรัสเซียเข้าโจมตีท่าเรือโอเดสซาของยูเครนในวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 ก.ค.)
ลาฟรอฟกล่าวว่า ความเกรี้ยวกราดของชาติตะวันตกในการคว่ำบาตรรัสเซีย ชี้ให้เห็นอย่างง่ายดายว่า “พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อยูเครน แต่ทำเพื่อต้องการรักษาระเบียบโลกในอนาคตมากกว่า พวกชาติตะวันตกบอกว่าทุกคนจะต้องเล่นตามกฎของระเบียบโลก ที่เขียนขึ้นในแต่ละสถานการณ์ตามที่พวกตะวันตกอยากให้เป็น เพื่อประโยชน์ของพวกตะวันตกเอง”
ก่อนหน้านี้ ลาฟรอฟได้พูดคุย ซาเมห์ ชูกรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค่างประเทศอียิปต์ โดยอียิปต์มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับรัสเซียในเรื่องการนำเข้าข้าวสาลี อาวุธ และนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล นับตั้งแต่หลังจากเกิดสงครามในยูเครน ทั้งนี้ หลังจากการพูดคุยกับชูกรี ลาฟรอฟได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า พวกตะวันตกกำลังยืดเวลาของสงครามออกไปเรื่อยๆแม้จะรู้อยู่แล้วว่า “ใครจะแพ้ ใครจะชนะ”
ในบทความที่ตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก่อนการเดินทางเยือนแอฟริกา ลาฟรอฟกล่าวว่ารัสเซีย "ได้สนับสนุนแอฟริกาอย่างจริงใจ ในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากการตกเป็นอาณานิคม" และได้กล่าวเสริมว่า รัสเซียรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เหล่าประเทศแอฟริกา “มีท่าทีที่เป็นกลาง” ในสงครามกับยูเครน
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกากล่าวว่า ยูเครนและรัสเซียได้ส่งออกข้าวสาลีคิดเป็น 40% ของข้าวสาลีทั้งหมดในแอฟริกา โดยปกติแล้วอียิปต์เป็นประเทศที่นำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2562 อียิปต์นำเข้าข้าวสาลีจำนวน 3.62 ล้านตันจากยูเครน นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก
แต่ในบทความดังกล่าว ลาฟรอฟกลับปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่ารัสเซีย “ก่อให้เกิดความอดอยาก” และโทษว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของพวกตะวันตก และการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตกก่อให้เกิด “แนวโน้มเชิงลบ” ต่อตลาดอาหารโลกอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ลาฟรอฟพยายามจะโน้มน้าวกลุ่มประเทศแอฟริกา ให้เลือกข้างรัสเซียมากกว่าพวกตะวันตก โดยลาฟรอฟเลือกใช้คำว่า “เราจะช่วยให้พวกท่านปลดแอกจากการตกเป็นอาณานิคมอย่างสมบูรณ์” แต่เป็นที่ชัดเจนว่าทั่วทั้งทวีปแอฟริกาไม่ค่อยเต็มใจที่จะเลือกข้างในสงครามยูเครน เพราะที่ผ่านมา สงครามเย็นได้ส่งผลกระทบร้ายแรงจนก่อให้เกิดความขัดแย้งในแอฟริกา และหยุดยั้งการพัฒนาของประเทศต่างๆ สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่กำลังพุ่งสูงขึ้น เนื่องจาก 40% ของข้าวสาลีทั้งหมดในแอฟริกามาจากรัสเซียและยูเครน ซึ่งผู้นำในประเทศแถบแอฟริกาย่อมรู้ดีว่า หากผู้คนอยู่อย่างอดอยากจะส่งผลร้ายต่อตำแหน่งของผู้นำเอง
ที่มา: