วันพฤหัสที่ (14 พ.ย. 2567) เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา) ณ Lima Convention Center กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับเกียรติจากผู้นำเปรู ในการพบปะหารือทวิภาคีกับ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Mrs. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ก่อนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 อย่างเป็นทางการ
นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู ต่างรู้สึกยินดี ที่ได้พบหารือกันเป็นครั้งแรกระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เป็นสุภาพสตรี เพียง 2 ท่านในเวทีเอเปคครั้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีต่อความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพของเปรู นอกจากนี้ ไทยและเปรูยังมีแนวคิดเดียวกันในการส่งเสริมประชาธิปไตย และพร้อมเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเปรูในปีหน้านี้อีกด้วย
ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน ที่จะร่วมกันผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-เปรู ให้แล้วเสร็จภายในปีหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันได้บรรลุความตกลงไปแล้วถึง 70 เปอร์เซ็นต์และเชื่อว่า หากสามารถจัดทำ FTA ให้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว จะยิ่งสามารถเพิ่มการค้าการลงทุนจากภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของเปรู ในการเปิดท่าเรือ “ชางใค”(chancay) ซึ่งจะทำให้ เปรู กลายเป็นประตูการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา อีกด้วย“
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง โครงการ แลนด์บริดจ์ ของไทย ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพี้นฐานการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และจะทำให้ไทยเป็นประตูการค้าในภูมิภาคอาเซียนที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในลาตินอเมริกาได้ ทั้งนี้ขอเชิญชวนเปรูให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ เปรู มีศักยภาพและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น superfoods, ซีรีย์ไทย, เพลงไทย (t-pop) ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวเปรู ทำให้รัฐบาลไทยมีแนวคิดที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านแฟชั่น ที่แปรเปลี่ยนมาเป็นสินค้าได้ โดยเปรู มีผ้าที่ทำจากขนสัตว์อัลปากา กับ ผ้าไหมของไทย ที่สามารถนำมาผสมผสานเป็นสินค้าสำคัญได้
การหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของเปรูได้ ขณะที่ ประธานาธิบดีเปรูขอบคุณไทยที่สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปค และยินดีสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคีอื่น ๆ เช่น อาเซียน และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกด้วย