วันที่ 10 มิ.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง เผยแพร่ข้อความจาก ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในหัวข้อ กกต. กับการ “หาทาง” ลงโทษที่เน้นสำนึกส่วนบุคคล ระบุว่า เลือกมาตรา 151 นี้ ก็เพราะต้องการเลี่ยงการเปรียบเทียบกับคดีการถือหุ้นสื่ออื่นๆ ที่จะทำให้ผลการตัดสินเป็นคุณแก่กรณีคุณพิธา ขอช่วยกันจับตามองเพทุบายทั้งหลายของบรรดา “น้ำน้อย” ในสังคมไทย ที่พยายามดับไฟแห่งความหวังของพวกเรา และต้องช่วยกันเตือนสติพวกเขา (ที่คงเหลือน้อยนิด) ว่าพวกเขากำลังก่อให้เกิดวิกฤติทั้งสังคม
ข้อความทั้งหมดระบุว่า
จดหมายถึงสังคมไทย
กกต. กับการ “หาทาง” ลงโทษที่เน้นสำนึกส่วนบุคคล
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
น่าเศร้าใจนะครับที่กระบวนการเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตยของสังคมไทยกำลังถูกทำให้ชะงักงันและอาจจะนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองครั้งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ผมกำลังจะพูดถึงเกมส์การเมืองของ กกต. ที่ออกมาในรูปของการเน้นให้ความผิดของคุณพิธา (ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ) นั้นกลายเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากสำนึกส่วนบุคคลของคุณพิธาเอง ตามมาตราที่ 151
การเลือกเน้นการพิจารณาข้อกล่าวหาคุณพิธา ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ดูเสมือนว่า กกต. มีความชอบธรรมในการที่จะลงโทษคุณพิธา ผมคิดว่า กกต. คงจะประเมินว่าหากออกมาในลักษณะที่เป็นความผิดส่วนบุคคลและเป็นสำนึกของคุณพิธาเพียงคนเดียว น่าจะลดกระแสต่อต้านของมวลชนลงเพราะเป็นความผิดที่ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะส่วนตัวของบุคคลโดยแท้
ผมรู้สึกตงิดๆ ใจอยู่ตั้งแต่เห็นหน้าบรรดา กกต. ที่โผล่มาทางโทรทัศน์ว่ามีลักษณะ “กระหยิ่มยิ้มย่อง” ก่อนการประกาศจะใช้มาตรา 151 และเป็นการ “รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นความปรากฏ” ซี่งหมายความว่า กกต. จะใช้อำนาจพิจารณาเรื่องนี้ก่อนส่งต่อไปยังศาลยุติธรรม อำนาจของการพิจารณาคดีพิธานี้สังคมไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมาตรา 151 นี้กำหนดบทลงโทษไว้สูงลิ่ว คือมีทั้งโทษจำคุก ปรับ และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งนานถึง 20 ปี
การที่เลือกมาตรา 151 นี้ ก็เพราะต้องการเลี่ยงการเปรียบเทียบกับคดีการถือหุ้นสื่ออื่น ๆ ที่จะทำให้ผลการตัดสินเป็นคุณแก่กรณีคุณพิธา การใช้มาตรา 151 ก็เพราะหวังว่าจะใช้คดีของคุณสิระเป็นตัวตั้งเพื่อเปรียบเทียบลงโทษ แต่ผมอยากจะบอกสังคมไทยว่าคดีของคุณสิระกับคุณพิธามันคนละเรื่องกัน หาก กกต. เทียบเคียงเช่นนี้ก็หมายความว่าต้องการเอาเรื่องคุณพิธาให้ได้นั้นเอง
การจะพิสูจน์ว่าคุณพิธารับรู้หรือไม่รับรู้ว่าตนเองมีคุณสมบัติหรือไม่ ก็ต้องดูที่การดำรงอยู่ของ ITV ด้วยว่าในสังคมขณะนั้น ITV มีสถานะอย่างไร หาก กกต. ไม่พิสูจน์ในจุดนี้ให้ชัดเจนและสังคมยอมรับได้เสียก่อน และกระโดดไปสู่การตัดสินการรับรู้หรือไม่รับรู้ของพิธาโดยเทียบเคียงกับคดีคุณสิระ ผมเชื่อว่า กกต. ตัดสินใจผิดและต้องขอบอกว่า กกต.จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น
การเมืองของความหวังเรื่อง “ความเสมอภาคและยุติธรรม” ได้ถูกจุดและลามไปทุกมิติของสังคมแล้ว จะดับไฟแห่งความหวังของสังคมนี้อย่างมักง่ายไม่ได้หรอกครับ
พี่น้องทุกท่าน ขอช่วยกันจับตามองเพทุบายทั้งหลายของบรรดา “น้ำน้อย” ในสังคมไทย ที่พยายามดับไฟแห่งความหวังของพวกเรา และต้องช่วยกันเตือนสติพวกเขา (ที่คงเหลือน้อยนิด) ว่าพวกเขากำลังก่อให้เกิดวิกฤติทั้งสังคม
โศกนาฏกรรมของสังคมไทยหลีกเลี่ยงได้ หากยืนอยู่บน “ความยุติธรรม” ที่แท้จริง