กิตา โกปิเนธ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผย ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกทั้งปี 2563 ติดลบ 4.4% ปรับดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดติดลบ 5.2% ทั้งยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาเป็น 5.2% ในปี 2564
เมื่อแยกตามภูมิภาค ไอเอ็มเอฟ มองว่า จีดีพีของประเทศในแถบยูโรโซนอาจติดลบหนักสุดในปีนี้ด้วยตัวเลขติดลบ 8.3% ตามมาด้วยฝั่งลาตินอเมริกาและกลุ่มประเทศแคริบเบียนที่ 8.1% ขณะจีดีพีของสหรัฐฯ ติดลบราว 4.3%
ทั้งนี้ ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและเอเชียกลับได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยคาดเศรษฐกิจจะหดตัวราว 1.7% ก่อนจะกลับไปเติบโตถึง 8% ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ประมาณการจีดีพีไทยทั้งปีนี้ในมุมมองของไอเอ็มเอฟติดลบหนักถึง 7.1%
เมื่อเทียบกับอีก 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม จีดีพีไทยรั้งอันดับรองสุดท้าย โดยมีฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบทางจีดีพีลดลงราว 8.3% ขณะที่การเติบโตของเวียดนามอยู่ในแดนบวก 1.6%
สถานการณ์ประเทศไทยในปี 2564 มีความอ่อนแอเมื่อเทียบกับอีก 4 ประเทศอย่างมาก โดยไอเอ็มเอฟมองว่าจีดีพีรวมของ 5 ประเทศนี้จะโตราว 6.2% ซึ่งทุกประเทศยกเว้นไทยล้วนมีแนวโน้มที่จะเห็นเศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกเกินหลัก 6% ด้วยกันทั้งสิ้น ขณะที่ไทยจะกลับมาโตแค่เพียง 4% เท่านั้น
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ปิดตลาดท้ายวันที่ 14 ต.ค. 2563 ปรับตัวลดลง 9.44 จุด คิดเป็นการลดลง 0.74% จากราคาเปิดตลาดในช่วงเช้า ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 50 ตัวแรก (SET50) ปิดตลาดลดลง 9.78 จุด คิดเป็นการลดลง 1.22%
รุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่าการซื้อขายหุ้นไทยระหว่างวันสะท้อนถึงความกังวลกับสถานการณ์การชุมนุมที่อาจบานปลาย ไปจนถึงประเด็นการปะทะระหว่างมวลชนที่มีจุดยืนแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลเหนือตลาดหุ้นไทยยังมาจากประเด็นเรื่องวัคซีนและสถานการณ์มาตรการเยียวยาโควิดของสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
สำหรับตลาดทองคำปรับตัวลดลง 350 บาท ทองแท่งขายออกที่บาทละ 28,000 บาท ขณะที่รับซื้อที่ราคา 27,900 บาท
ธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง ชี้ว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบันราคาทองของไทยยังอ้างอิงตลาดโลกเป็นสำคัญ โดยปัจจัยทางการเมืองยังมีผลกระทบต่อราคาซื้อขายอย่างไม่มีนัยสำคัญ