วันที่ 20 ส.ค. 2565 ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีบางฝ่ายพยายามขอยกเลิกการชำระหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อให้การศึกษา (กยศ.) โดยระบุว่า ตนเข้าใจว่ากลุ่มการเมืองดังกล่าวเป็นเยาวชนที่มีกลุ่มการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัง โดยพยายามสร้างประเด็นให้คนสังคมวิตกกังวลอยู่เสมอ ซึ่งทางกลุ่มการเมืองนี้ได้เสนอว่า ควรจะยกเลิกหนี้คงค้างคนที่เรียนจบครบ 2 ปีแล้ว และให้เก็บเงินจากรัฐบาล โดยอ้างว่าการเป็นหนี้สินที่ลดแรงจูงใจในการเริ่มต้นชีวิต และเกิดความเหลื่อมล้ำนั้น
ชัยชนะ กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะทาง กยศ. ได้มีการกำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ภายหลังจากจบการศึกษา 2 ปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเพื่อให้บัณฑิตที่จบใหม่ สามารถมีระยะเวลาในการหางานเพื่อนำเงินบางส่วน มาแบ่งชำระให้กับทาง กยศ. นำเงินเหล่านั้น มาสร้างโอกาสให้กับน้องๆ ที่ต้องการโอกาสในการเรียนนระดับสูงต่อไป และเป็นการสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต
ทั้งนี้ หากกลุ่มการเมืองดังกล่าว ที่มักจะอ้างตัวเสมอๆว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่รักประชาธิปไตยและสนใจการเมืองอย่างแท้จริงนั้น ก็ควรจะทราบด้วยว่า ขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ( ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... และได้มีการทำงานจนกระทั่งมีการเตรียมที่จะบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณารายมาตราในวาระ 2 และลงมติในวาระ 3 เร็วๆ นี้ ซึ่งทาง กมธ.วิสามัญ ก็ได้มีการแก้ไขและขยายประโยชน์ให้กับผู้กู้จำนวนมาก เช่น กำหนดให้ไม่มีผู้ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินสำหรับการเรียนจนถึงขั้นปริญญาตรี เพื่อไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ค้ำประกัน เช่น บิดา มารดา ครูอาจารย์ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ค้ำประกันตัวเองแทน ขยายเหตุที่ทำให้หนี้ระงับมากขึ้นกว่ากฎหมายปัจจุบันที่กำหนดไว้เฉพาะลูกหนี้ถึงแก่ความตาย คือเพิ่มเติมในกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย ยกเว้นล้มละลายจากการทุจริต
รวมทั้งยกหนี้กรณีพิการทุพพลภาพ และโรคอันตรายร้ายแรง จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ลดดอกเบี้ยจากไม่เกิน 7.5 ต่อปี เป็นไม่เกิน 0.25 ต่อปี ไม่คิดเบี้ยปรับลูกหนี้กยศ.ที่ผิดนัดชำระหนี้คืนกองทุน จากแต่เดิมเบี้ยปรับตามกฎหมายที่ใช้กันอยู่คือกำหนดถึงร้อยละ 18 เพราะถือเป็นอัตราที่สูงเกินความจำเป็น มีการขยายโอกาสให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่เป็นชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง หรือผู้มีสถานะบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งอยู่ระหว่างขอสัญชาติไทย ให้เข้าถึงกองทุนฯ ได้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเอาไว้
ดังนั้น หากกลุ่มดังกล่าว ต้องการเสนอแนวคิดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนและคุณภาพชีวิตของเพื่อนๆนักเรียนด้วยกันแล้ว ก็ย่อมสามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ใช่การเสนอแนวคิดเพื่อสร้างค่านิยมแบบบิดเบี้ยวและไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติด้วย
“ผมเชื่อว่า การเคลื่อนไหว เพื่อดำเนินการล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมาย กยศ. โดยให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ เพื่อให้ยกหนี้ผู้ที่กู้ยืมฯ นั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ก่อประโยชน์โดยรวม เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลในอนาคต ก็จะต้องแบกรับงบประมาณไปอีกราวๆ 50,000 ล้านบาทต่อปี และไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า คนเหล่านั้น จะสามารถหางานทำเพื่อนำเงินรายได้มาชำระคืนในรูปแบบภาษีเพื่อกลับมาจัดสรรงบประมาณในการให้เด็กเรียนรุ่นหลังได้เรียน รวมทั้ง เงินจำนวนนี้ ยังสามารถนำไปใช้พัฒนาในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นอีกมาก"
ดังนั้น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคของ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้คำนึงถึงข้อจำกัดทางการเงินของประเทศ และเห็นถึงโอกาสของเด็กที่ต้องการโอกาสทางการศึกษาในระดับสูง จึงได้จัดตั้งกองทุน กยศ. ในรูปของกองทุนหมุนเวียน ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้ ทาง กมธ. วิสามัญร่าง พ.ร.บ. กองทุน กยศ. นั้น ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันมากยิ่งขึ้น และเป็นไปตามอุดมการณ์ที่กลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้แล้ว
"สิ่งสำคัญที่สุดที่ถือเป็นหลักการทั่วไปก็คือ ‘มีหนี้ก็ต้องจ่ายคืน’ และอย่าไปให้ความเชื่อถือกับอาจารย์หรือนักการเมืองที่ชอบให้ท้ายแบบผิดๆ อีกด้วย ” ชัยชนะ กล่าว