ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงยุติธรรม แถลงยกเลิกสัญญาการเช่าใช้ 'กำไลอีเอ็ม' พร้อมเรียกปรับค่าเสียหายกว่า 83 ล้านบาท หลังพบว่าอุปกรณ์สามารถถอดออกได้ คุณลักษณะไม่ตรงตามทีโออาร์ที่กำหนดไว้

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.)แถลงยกเลิกสัญญาการเช่าใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไลอีเอ็มกับบริษัท สุพรีม ดีสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด หลังพบว่ามีข้อบกพร่องและไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยก่อนหน้านี้กรมคุมประพฤติได้ทำสัญญาเช่าใช้ เพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิด จำนวน 4,000 เครื่อง เป็นเวลา 21 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563 รวม 21 เดือน ด้วยงบประมาณจำนวน 74, 470,000 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 พบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถถอดออกได้ เกิดจากความบกพร่องของตัวอุปกรณ์ที่มีคุณลักษณะไม่ตรงตามขอบเขตของงาน(TOR)ซึ่งกรมคุมประพฤติได้ดำเนินการแจ้งให้บริษัทนำอุปกรณ์มาเปลี่ยนภายใน 15 วันตามสัญญา ซึ่งบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามระยะเวลาดังกล่าวได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 กรมคุมประพฤติจึงดำเนินการแจ้งยกเลิกสัญญาไปยังบริษัทดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ล่าสุดวานนี้ (19 ก.ย.) กรมคุมประพฤติได้ส่งหนังสือทวงถามบริษัทให้ชำระหนี้ค่าเสียหายจำนวน 83,825,810 บาท เนื่องจากตรวจสอบพบข้อเท็จจริงว่าอุปกรณ์ดังกล่าว สามารถถอดออกได้ เกิดจากความบกพร่องของตัวอุปกรณ์ที่มีคุณลักษณะไม่ตรงตามทีโออาร์ที่กำหนดไว้จึงได้แจ้งยกเลิกสัญญาเช่ากับบริษัท สุพรีมฯ จำนวนคำปรับแบ่งแยกเป็น4ประเด็นคือ

  • การส่งมอบอุปกรณ์ล่าช้าเป็นเงิน 1.7 ล้านบาท
  • การไม่นำอุปกรณ์มาเปลี่ยนให้ใหม่ภายในระยะเวลากำหนด 26 วันจากจำนวนอีเอ็มทั้งหมด 4,000เครื่อง ค่าปรับเครื่องละ 500บาท/วัน คิดเป็นเงินจำนวน52 ล้านบาท 
  • ค่าเสียหายจากการไม่มาปฎิบัติงานของพนักงานประจำศูนย์อีเอ็ม2 ราย ในระยะเวลา 1เดือน จำนวน 22,500 บาท
  • ค่าเสียหายหลังการบอกยกเลิกสัญญาอีกทำให้กรมคุมประพฤติไม่สามารถใช้งบประมาณจำนวน 21.6 ล้านบาท และไม่สามารถนำงบปี 62 มาใช้ได้อีก 8.8 ล้านบาท รวม 29.7 ล้านบาท

โดยกรมคุมประพฤติทำหนังสือแจ้งให้บริษัทสุพรีมฯชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว โดยให้ดำเนินการชำระหนี้ค่าเสียหายให้แล้วเสร็จภายในระยะ เวลา 15 วัน หากครบกำหนดระยะเวลาแล้ว บริษัทคู่สัญญาไม่ชำระหนี้ ถือว่าบริษัทคู่สัญญาผิดนัด กระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทคู่สัญญาต่อไป 

สำหรับขั้นตอนการคำนวณค่าเสียหายกรมคุมประพฤติจะส่งหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดให้เป็นผู้ดำเนินคดีต่อไป ส่วนอัยการจะเห็นชอบในตัวเลขดังกล่าวหรือไม่นั้น อาจต้องหารือกันอีกครั้ง แต่กรมได้พยายามรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยได้เร่งรัดให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วน และเห็นได้ว่ามีการทำผิดสัญญาอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องการถอดกำไลอีเอ็มออกง่าย ไม่สังสัญญาณเตือนขณะถูกตัดทำลาย และผิดสเปคที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมคุมประพฤติได้แจ้งไปศาลของดใช้กำไลอีเอ็มจนกว่าจะมีการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ 

สำหรับการใช้อุปกรณ์อีเอ็มเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ปัจจุบันคุกทั่วประเทศมีผู้ต้องขัง 3.6 แสนคนและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่พ้นโทษและได้รับการพักโทษมีน้อยกว่าที่เข้ามาใหม่ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การออกกฎกระทรวงการพักโทษ การขยายเรือนจำ การสร้างเรือนจำใหม่ก็ต้องทำ ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาและการใช้งบประมาณปี 2563 และปี 2564 ด้วย

ด้านนายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า กรมคุมประพฤติได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมให้ทราบว่าได้มีการยกเลิกสัญญาเช่าให้กำไลอีเอ็มแล้ว และขอให้ประสานไปยังศาลจังหวัดทั่วประเทศ ให้เร่งทำรายงานเสนอศาลเพื่อขอเพิกถอนการใช้กำไลอีเอ็มกับผู้ถูกคุมประพฤติ ซึ่งก่อนจะแจ้งยกเลิกมีผู้ใช้กำไลอีกเอ็มกระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 คน โดยระหว่างที่ไม่ได้มีการใช้อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ติดตามตัว ศาลอาจมีคำสั่งให้มารายงานตัว หรือส่งไปทำงานบริการสังคมตามดุลยพินิจของศาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :