30 ต.ค. 2566 ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ถ้าคำว่า ‘อิสาน’ พาสัปเหร่อจากทุน 10 ล้านบาท มาได้ไกลถึง 600 ล้าน เราจะทำอย่างไรกับคำว่า ’ไทย‘ ให้กลายเป็น soft power ให้ทรงพลังในบริบทของโลก ด้วยต้นทุนที่เรามีอยู่แล้ว
ความทะเยอทะยานของผมในการเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์ คือการทำให้ความหมายของคำว่า ‘ไทย‘ หรือ 'ประเทศไทย' กลายเป็น soft power ที่ทรงพลัง ทุกสิ่งที่มีคำว่า 'ไทย' เข้าไปแปะไว้ ไม่ว่าจะงานออกแบบไทย ดนตรีจากไทย ภาพยนต์จากไทย การแสดงจากไทย มันต้องกลายเป็นความ 'คูล' อย่างน้อยก็แบบที่เกาหลีเป็นในวันนี้และไม่ได้เป็นเมื่อ 20 ปีก่อน
เป็นความทะเยอทะยานที่ชวนหมั่นไส้มาก
Thailand As Brand เป็นแนวคิดที่แตกต่างจาก Branding Thailand แบบกลับหัวกลับหาง เราไม่ได้ตั้งใจจะสร้าง แบรนด์ให้กลับประเทศไทย แต่จะสร้างประเทศไทยให้กลายเป็นแบรนด์ จากต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่เดิมแล้ว ทำจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น
กลุ่มผู้คนที่ทำงานออกแบบและงานสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ จะเป็นหัวหอกในการทำให้เราลงไปค้นพบในสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรามี ที่สามารถนำมาเล่าให้ ‘ไทย’ เกิดการปรากฏขึ้นใหม่ในสายตาของชาวโลก และให้ความหมายใหม่กับคำว่า ‘ไทย’ ในวิธีที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และนำมาซึ่งการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจของเราเข้มแข็งขึ้น
จุดเริ่มต้นของการทำให้ Thailand As Brand สำเร็จ คือการค้นหาคน 100 คน ที่จะกลายมาเป็น Front ของประเทศไทย ในอุตสาหกรรมออกแบบและงานสร้างสรรค์ และเล่าเรื่องราวของคนเหล่านั้นออกไปทั่วโลก คณะอนุกรรมการสาขาทุกแบบทุกท่าน กำลังทำงานกันอย่างหนักในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อตัดเลือกเรื่องราวของ 100 คน ให้กลายเป็น Front ใหม่ของประเทศไทย เพื่อกลายเป็นเนื้อหา เป็นหนังสือสิ่งพิมพ์ เป็นนิทรรศการ เป็นเรื่องราวใหม่ของประเทศไทยที่จะถูกเริ่มต้นเล่าออกไป ในอีก 100 วันข้างหน้า และต่อเนื่องไปตลอด 1 ปี
โครงการ Front 100 เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะสร้างการปรากฏใหม่ของประเทศไทยในฐานะแบรนด์ เป็นศักยภาพของ soft power จากต้นกำเนิดของความ ‘ไทย’ แบบที่เราเป็นจริงๆ ทำจากสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็น และทำให้สิ่งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลก
เป็นความทะเยอทะยานที่คุ้มค่ากับความพยายามนะครับ