ไม่พบผลการค้นหา
Voice สรุปประเด็นร้อน 'การแบ่งเขตเลือกตั้ง' ในพื้นที่กรุงเทพฯ 33 เขต เสี่ยงผิดกฏหมายเลือกตั้ง พรรคการเมืองดาหน้าคัดค้าน หวั่นเลือกตั้งเป็นโมฆะ ประยุทธ์รักษาการยาว
  1. เมื่อวานนี้ (16 มีนา) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตเสร็จสิ้น เตรียมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ส่วนสนามแข่งขันที่ดุเดือดและน่าจับตาที่สุดตอนนี้ คือกรุงเทพฯ เพราะมีเขตเลือกตั้ง 33 เขต และต้องมี ส.ส. 33 คน กกต.ออกแบบไว้ 8 แบบ และเลือกการแบ่งเขตแบบที่ 1 
  2. การแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้จะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง ประกอบกับระเบียบของ กกต. ก็กำหนดว่า ผลต่างจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน ของแต่ละเขต ต้องไม่ต่างกันเกิน 10%
  3. ทันทีที่ผลการแบ่ง 400 เขตเลือกตั้งหลุดออกสู่สายตาสาธารณะ พรรคการเมืองแทบจะทุกพรรค ต่างดาหน้าออกมาคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งใน กทม.ทันที เหตุเพราะหลายเขตเลือกตั้งใน กทม. แบ่งโดยการผ่าและรวมในระดับแขวง เพื่อรวมเป็นเขตเลือกตั้ง เรียกได้ว่า เขตเลือกตั้งเดิมถูกฉีกออกจากกันและจัดกลุ่มใหม่
  4. อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ชี้ว่ามี 13 เขตเลือกตั้ง จากทั้งหมด 33 เขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่เอาแขวงของหลายเขตมารวมกันโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก และวานนี้ อรรถวิชช์ได้ยื่นคำร้องถึงศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครอง เบรคประกาศของ กกต. และพิจารณาเพิกถอนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. กทม. โดยด่วน 
  5. อรรถวิชช์ มองว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ จงใจละลายเขตเลือกตั้งให้ไม่เหมือนเดิม ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27 (1) ที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ ‘รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง’ หมายความว่า จะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง ปกติการแบ่งเขตที่ผ่านมา จะมีอำเภอหลักเป็นตัวตั้ง แล้วนำจำนวน ส.ส.ต่อราษฎรมาคำนวน ถ้าเขตไหนคนเยอะ ก็จะตัดบางตำบลออกไปบ้าง หรือถ้าเขตไหนคนน้อย ก็จะนำเอาตำบลอื่นจากอำเภออื่นมาเพิ่ม ครั้งนี้ถือเป็นการแบ่งเขตที่แปลกประหลาดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้มีเขตเลือกตั้งที่รวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 8, 9, 12, 13, 17, 18, 19, 21, 26, 27, 28, 29 และ 30  และมีเพียง 4 เขตเท่านั้นที่แบ่งเหมือนเดิม
  6. การหั่นเขตเลือกตั้งของ กกต. ดังประกาศนี้ จะส่งผลให้  ส.ส. ในแต่ละพื้นที่ ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน อีกทั้งการรวมแขวงข้ามเขตแบบนี้ จะกระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง 
  7. ด้านพรรคเพื่อไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และ สุรชาติ เทียนทอง ก็ได้ออกมาแถลงเช่นกันว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเช่นนี้ กกต.เสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศได้ หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้
  8. สุรชาติ ย้ำว่า หลักการแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องดำเนินการตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำ ในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน อำนวยความสะดวกให้ประชาชน  ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวง กกต. ควรยึดเขตการเลือกตั้งให้ใกล้เคียงกับปี 2554 และปี 2557 มากที่สุด
  9. ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. มองว่า การละลายเขตเลือกตั้งแบบเก่า โดยการผ่าเขต-อำเภอใหม่ เพื่อรวมเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ จะทำให้นักการเมืองเจ้าของพื้นที่เก่าถูกลดความสำคัญลง และเป็นโอกาสที่ดีกับพรรคเล็กและพรรคใหม่ ที่เคยเสียเปรียบได้เข้ามามีบทบาททางมากขึ้น 
  10. ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ธนกร วังบุญคงชนะ คณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค ได้ออกมาระบุว่า พรรค รทสช. เคยยื่นคัดค้านรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดนครศรีธรรมราชมาแล้ว แต่ไม่เป็นผล จึงต้องยอมรับ และมองว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องมีความพร้อม เขตเลือกตั้งออกมาแบบไหน เมื่อแก้ไขไม่ได้ก็ต้องทำตามกติกา ตนยืนยันว่า พรรค รทสช. ยอมรับในกติกาพร้อมปฏิบัติตาม
  11. ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมาชี้เเจงในวันนี้่ (17 มีนาคม) ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. เป็นไปตามหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่กำหนด ตามหลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ยจำนวนจำนวนประชากร ไม่เกิน 10% รวมถึงความใกล้เคียงของพื้นที่ ให้เป็นไปตามกฏหมายทุกประการ โดย กกต. ยืนยันว่า สามารถชี้แจงได้ในทุกเขตเลือกตั้ง
  12. ปกรณ์ ยังยก รัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่บัญญัติให้ส.ส. เป็นผู้แทนของปวงชน ไม่ใช่ผู้แทนของจังหวัดหรือเขต ดังนั้นการยื่นร้องต่อศาลปกครองในกรณีดังกล่าวถือเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และกราบเรียนไปยัง ศาลปกครองว่า ก่อนจะมีคำสั่งใด กกต. พร้อมชี้แจง และตยินดีไปให้ข้อมูลต่อศาล
  13. ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของกติกาการเลือกตั้งและการเเบ่งเขต ประชาชนคงจับตารอดูต่อไปว่า ศาลปกครองจะมีท่าทีอย่างไรต่อคำร้องของอรรถถวิช หากศาลพิจารณาเพิกถอนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ดังคำร้อง การเลือกตั้งอาจต้องล่าช้าจากคาดการณ์เดิม หรือหากการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ถูกบังคับใช้จริง น่าสนใจว่าจะส่งผลต่อคะแนนของพรรคเจ้าของพื้นที่ต่างๆ มากแค่ไหน และไม่แน่ว่า อาจกลายเป็นประเด็นทำให้การเลือกตั้งโมฆะก็เป็นได้ ซึ่งนั่นก็จะส่งผลให้พลเอกประยุทธ์รักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป 

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ในพืื้นที่กรุงเทพมหานคร

1.1.png2.2.png4.4.png5.5.png6.6.png1.1.png