ไม่พบผลการค้นหา
'ทวีศิลป์' เผย 4 ยุทธศาสตร์ 17 มาตรการ หลังยกระดับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ยุบ ศบค. หลังจัดตั้งตามคำสั่งนายกฯ รวมระยะเวลา 2 ปี 5 เดือน มีผลบังคับใช้หลัง 30 ก.ย.

วันที่ 23 ก.ย. 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) แถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีมติให้มีการยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินฯ ทุกจังหวัด โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป และถือเป็นการสิ้นสุดของ ศบค. ไปด้วย 

สำหรับการประชุมเมื่อช่วงสายของวันนี้ ได้มีการรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ และเหตุผลของความจำเป็นในการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาพรวมดีขึ้น ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ และผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง ซึ่งประชาชน และผู้ประกอบการ สามารถดำเนินชีวิต และขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมได้ตามปกติ 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับให้โควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง และอันตราย เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง รวมถึงได้มีการจัดทำกรอบนโยบาย และแนวปฏิบัติของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภายหลังการยกระดับสู่การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังอย่างชัดเจน ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการวางแนวทางนี้ไว้ และทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์

ในส่วนของแผนปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หลังจากไม่มี ศบค. แล้วนั้น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้เข้ามาดูแลในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แทน 

นพ.ทวีศิลป์ เผยอีกว่า ขณะนี้ ประเทศไทยมีอัตราการป่วย และตายจากโรคโควิด-19 อยู่ที่ 0.1% อัตราการครองเตียง 11-24% และย้ำว่า เตียงผู้ป่วยที่อยู่ในระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ 100,000 เตียง ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้

อีกทั้งมีการกำหนด 4 ยุทธศาสตร์ 17 มาตรการ แผนปฏิบัติการ ได้แก่ 

  1.ด้านการป้องกันเฝ้าระวังและควบคุมโรคมี 5 มาตรการ 

  2.ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาลมี 4 มาตรการ

  3.ด้านการสื่อสารความเสี่ยงประชาสัมพันธ์และข้อมูลสารสนเทศมี 3 มาตรการ

  4.ด้านบริหารจัดการกฎหมายสังคมและเศรษฐกิจมี 5 มาตรการ

ส่วนโครงสร้างการดำเนินงานในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในระยะที่โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังนั้น ใครที่ยังไม่ได้รับวัคซีนสามารถรับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

"ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพ เพื่อที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติ และได้ขอขอบคุณทุกคนในการทำงานที่ผ่านมาอย่างเข้มแข็ง ทำให้สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จนได้รับคำชื่นชมในระดับโลก และในตอนนี้ได้กลับไปสู่โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ที่ได้ดำเนินงานมา ตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึงขอให้ส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการ และทำงานต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มีการตั้งขึ้นหลังการประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง 'การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่' ตามพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ลงมติวันที่ 24 มี.ค. 2563 รวมระยะเวลาของการตั้ง ศบค. ทั้งสิ้น 2 ปี 5 เดือน