นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีการพบแรงงานต่างชาติหลายสัญชาติ ทั้งเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม จีน รัสเซีย และอินเดีย เข้ามาประกอบอาชีพแข่งขันกับคนไทยในหลากหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด ตลาดสด ร้านทำเล็บ อู่ซ่อมรถ แผงค้าขาย รถเข็น รวมถึงสถานบันเทิงตามแหล่งท่องเที่ยวและย่านการค้าสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในพื้นที่ นั้น
อธิบดีกรมการจัดหางานระบุ 'ผมไม่ได้นิ่งนอนใจ' ได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจกรมการจัดหางาน ดำเนินการกวาดล้างแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย รวมถึงแรงงานต่างชาติที่ทำงานผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงาน อย่างเข้มงวดและไม่เลือกปฏิบัติ โดยจะใช้มาตรการลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานประกอบการในทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า พื้นที่เป้าหมายในการสุ่มตรวจ อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพหลักของคนไทย รวมถึงย่านการค้าและแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ เยาวราช ห้วยขวาง ปากคลองตลาด อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และตลาดนัดชื่อดังต่างๆ
ซึ่งผลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 18 เมษายน 2568) มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 38,734 แห่ง ดำเนินคดี 1,329 แห่ง และตรวจสอบแรงงานต่างชาติ จำนวน 523,706 คน แยกเป็นสัญชาติ
- เมียนมา 398,493 คน
- กัมพูชา 70,371 คน
- ลาว 32,983 คน
- เวียดนาม 522 คน
- จีน 9,189 คน
และสัญชาติอื่น ๆ 12,148 คน
มีการดำเนินคดีกับแรงงานต่างชาติทั้งสิ้น 2,575 คน ในจำนวนนี้ พบเป็นการแย่งอาชีพคนไทยถึง 883 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 481 คน กัมพูชา 139 คน ลาว 109 คน อินเดีย 24 คน เวียดนาม 54 คน จีน 21 คน และสัญชาติอื่น ๆ 55 คน
โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด ตามลำดับ ส่วนงานที่คนต่างชาติถูกดำเนินคดีเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้แก่ งานขายของหน้าร้าน งานช่างก่อสร้าง และงานกรรมกร ตามลำดับ
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเน้นย้ำว่า แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเคารพกฎหมายของเรา เช่นเดียวกับที่คนไทยไปทำงานในต่างประเทศก็ต้องเคารพกฎหมายของประเทศนั้น ๆ โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องทำงานตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด ตลอดจน
ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (มีทั้งสิ้น 40 งาน)” ซึ่งคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงถูกห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ ในส่วนของนายจ้างหรือสถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี