ไม่พบผลการค้นหา
การตัดสินใจเผชิญหน้ากับคลินิกเสริมความงาม ตามเส้นทางกระบวนการยุติธรรม ทำเอาหญิงสาวเสียเวลาถึง 6 ปีเต็ม สิ่งที่เธอได้เรียนรู้คือ ช่องว่างทางกฎหมาย ที่ทนายความยืนยันว่า “มีจริง” เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องรอบคอบ

เมื่อเร็วนี้ๆ มีประเด็นในโลกออนไลน์ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เป็นบทเรียนการต่อสู้ระหว่างหญิงสาวกับสถาบันเสริมความงามแห่งหนึ่ง 

เธอถูกฝ่ายหลังแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังวิจารณ์ ‘ติชม’ ผ่านข้อความในกระทู้เว็บไซต์พันทิป  

เธอใช้เวลาถึง 6 ปีในการต่อสู้ด้วยพยานหลักฐาน ก่อนเอาชนะในท้ายที่สุด เมื่อ “อัยการไม่สั่งฟ้องดำเนินคดี”

คำถามสำคัญก็คือ กระบวนการฟ้องร้องผู้บริโภคของสถาบันเสริมความงามและทนายความนั้น ได้กลายเป็นช่องทางหากินเพื่อรีดไถเงินหรือไม่ ? 


กฎหมายไม่ผิด ผิดที่คน

เธอให้สัมภาษณ์กับวอยซ์อออนไลน์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของกฎหมาย แต่เกิดจากผู้นำกฎหมายมาใช้ในทางที่ไม่ดี 

“เราไม่ได้เจอกับกฎหมายที่ไม่ดี แต่เราเจอกับคนที่เอากฎหมายมาใช้ในทางที่ไม่ดีมากกว่า เพราะผู้ประกอบการบางรายที่โดนกลั่นแกล้งก็สามารถปกป้องตัวเองด้วยข้อกฎหมายนี้เช่นกัน ไม่สามารถตัดสินได้ว่านี่คือจุดอ่อนในกระบวนการยุติธรรม แต่เรามองว่าเป็นช่องว่างมากกว่า เช่น เจ้าทุกข์แจ้งความที่ไหน ผู้ต้องหาต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาที่นั่น ในความเป็นจริงมันแทบเป็นไปไม่ได้ ข้อจำกัดมีอยู่เต็มไปหมด

"ระหว่างทางมันคือต้นทุน มีราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้ตัวเองพ้นข้อกล่าวหา ที่แพงสุดคือเวลา ตรงนี้คือจุดอ่อนของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร” เธอบอกถึงสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ 

หญิงสาวแนะนำว่า เมื่อเจอปัญหาแบบเดียวกับเธอ สิ่งที่ต้องทำคือ ทำความเข้าใจกับข้อกล่าวหา ลำดับความเป็นไปของประเด็น ก่อนนำไปปรึกษากับผู้รู้ทางด้านกฎหมาย ที่สำคัญคือเก็บพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด 

“เราต้องสู้กันด้วยหลักฐาน คำแก้ตัวของเราต้องมีหลักฐานประกอบ เราแก้ตัวลอยๆ ไม่ได้ สู้ไปตามขั้นตอน อย่าหาทางลัดที่จะทำให้เรามีความผิดเพิ่มขึ้น ต้องอดทน ถ้าคิดว่าเราจะเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองแล้วก็ต้องมีเวลาให้กับมัน” 

ผู้หญิง เงามืด คุกคาม

ฟ้องปิดปาก-เชือดไก่ให้ลิงดู 

การฟ้องร้องของคลินิกอาจไม่ได้มุ่งหวังเรื่องเงินเป็นหลัก แต่มองไปที่การป้องปรามลักษณะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” 

เกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระ บอกว่า ทุกคนมีสิทธิฟ้องร้องอยู่แล้ว หากรู้สึกถูกดูหมิ่นประมาท เสียหาย หรืออื่นๆ ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคลินิกส่วนใหญ่ มักฟ้องดำเนินคดีเพราะต้องการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกหวาดกลัว ยุ่งยาก และยินยอมขอโทษ ก่อนจะนำความพ่ายแพ้ไปเป็นประโยชน์ในการป้องกันตนเองจากเสียงวิจารณ์หรือคำตำหนิในอนาคต 

“คลินิกอาจไม่ได้หวังผลเรื่องเงิน แต่หวังผลทางคดี เป็นการปรามคนอื่นๆ ไม่ให้ลูกค้าไปพูดให้เขาเกิดความเสียหายในวงกว้าง” ทนายดังบอก “เขาเรียกกันว่าฟ้องปิดปาก” 

ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักไม่ค่อยต่อความยาวสาวความยืด กลัวเจอดำเนินคดี ไม่อยากเสียเวลาในกระบวนการยุติธรรม จึงมักยอมรับผิด เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และยอมจ่ายเงินเพื่อให้เรื่องจบ 

“เราเป็นผู้เสียหายก็จริง แต่เราก็อาจวิจารณ์รุนแรงเข้าข่ายหมิ่นประมาทจริงๆ ด้วย” เขาบอกถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายคนเลือกจ่ายเงินเพื่อให้เรื่องจบ

ชอปปิ้ง-ห้างสรรพสินค้า-เศรษฐกิจ

ทนายหัวหมอ 

ความกลัวและขี้เกียจเรื่องมาก กลายเป็นช่องว่างทางกฎหมายให้ทนายความนำไปหากิน

เกิดผล เล่าว่า พฤติกรรม 'ทนายหัวหมอ' มองหาคนวิจารณ์ที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียนั้นมีจริง ในอดีตเคยมีเคสของผู้หญิงรายหนึ่งถูกวิจารณ์เรื่องการแต่งกายอย่างหนักผ่านสังคมออนไลน์ ด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม ส่อล่วงเกินทางเพศ แม้เธอเองไม่อยากได้เงินและตั้งใจฟ้องเพื่อให้ทุกคนหยุด แต่ก็กลายเป็นโอกาสของทนายความ 

“เขาแค่รู้สึกอายที่ถูกคนอื่นด่า ก็เลยฟ้อง แต่ทนายมาเคลียร์ไล่ฟ้องคนละ 2-3 หมื่น กลายเป็นช่องทางหาเงินของทนายเลย” 


อย่าเปิดช่อง 

ทนายเกิดผล ระบุว่า กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้คนประจานกัน หากเกิดความเสียหายต้องไปใช้สิทธิทางศาล โดยคดีผู้บริโภค กฎหมายยกเว้นค่าธรรมเนียมไม่เสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง และถึงไม่มีทนายความเป็นของตัวเอง ศาลก็มีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ หรืออีกทางหนึ่งคือการร้องเรียนผ่าน สคบ. เพื่อเอาผิดกับสถานประกอบการ 

“การไปโจมตีผ่านทางสังคมออนไลน์ เป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบการอาศัยช่องทางกฎหมายเล่นงานเรา”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมนั้นอาจใช้เวลานาน สูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและอ้อม เพราะฉะนั้นผู้วิพากษ์วิจารณ์ควรเข้าใจ “การกระทำโดยสุจริต” ระมัดระวังและแยกให้ออกระหว่างวิจารณ์โดยสุจริตกับหมิ่นประมาทใส่ความ 

“อารมณ์และความไม่สุจริต ทำให้เรื่องวิชาการกลายเป็นเรื่องวิชากู” ทนายความเตือน 


ตาชั่ง-ศาล-กระบวนการยุติธรรม

ก.ม.ไม่อนุญาตให้ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ 

'พิฆเนศ ต๊ะปวง' รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า อย่าเปลี่ยนสถานะของตัวเองจาก “ผู้ถูกกระทำ” เป็น “ผู้กระทำ” เราปกป้องตัวเองได้ แต่ว่าร้ายคนอื่นไม่ได้ 

“เรากำลังเป็นผู้เสียหาย ขณะเดียวกันเรากำลังไปสร้างความเสียหายให้กับอีกคนหรือเปล่า” เขาตั้งคำถาม

“มันไม่ใช่เรื่องตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่มีช่องทางตามกฎหมายรองรับ” 

คำแนะนำคือ ก่อนแสดงความคิดเห็นทุกครั้งให้พึ่งตระหนักว่า หากเราเป็นผู้ถูกกล่าวถึงจะรู้สึกอย่างไร 

“การสื่อสารต้องมาจากความสุจริต ไม่ใช่เพราะต้องการระบาย เอาคืน แก้แค้น การเอาคืนมันมีทางออกตามกฎหมายอาญา ถ้าถูกกระทำ คุณต้องไปร้องทุกข์ต่อตำรวจ สคบ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอาผิดอีกฝ่าย รวมถึงเพื่อเยียวยาความเสียหาย”  

เขาบอกว่า การหมิ่นประมาทนั้นไม่ว่าจะมีเพียงคำเดียว จาก 10 หรือ 100 คำในประโยค หากพิสูจน์แล้วว่าเข้าข่ายความผิด ผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบ 

“ชมทั้งตัวดีหมดทุกอย่าง แต่ติงเรื่องเดียวก็ผิดได้ ถ้ารุนแรง เข้าข่ายหมิ่นประมาท ทำให้เขาเดือดร้อนเสียหาย”


สถิติปัญหา ผู้บริโภค vs คลินิกความงาม

พิฆเนศ บอกว่า ในภาพรวม สคบ.พบปัญหาหลักระหว่างผู้บริโภคและคลินิกเสริมความงาม ได้แก่ การไม่ปฏิบัติตามสัญญา, คุณภาพการให้บริการหรือการรักษาไม่เป็นไปดั่งที่คาดหวังตามโฆษณาไว้, ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ หรือถูกต่อสัญญาโดยไม่ได้รับความยินยอม, ถูกชักจูงโน้มน้าวให้ซื้อคอร์สเพิ่มเติม

“บางอย่างเป็นความผิดของคลินิกจริง บางอย่างก็เกิดจากผู้บริโภคเองที่ตัดสินใจผิดพลาด อ่านรายละเอียดไม่รอบคอบ บางคนรูดบัตรเอง เซ็นเอง สุดท้ายกลับมาบ้าน คิดได้ ยังไม่ได้ใช้เลยนะ ไปดูรีวิวในสื่อออนไลน์พบผู้คนบอกของไม่มีคุณภาพ ก็เลยมาร้องเรียนที่ สคบ.”

รายงานเรื่องร้องทุกข์ของ สคบ. ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.61 – 31 ส.ค.2562 พบว่า ปัญหาการร้องทุกข์สถาบันเสริมความงาม อยู่ในลำดับที่ 9 มีการร้องเรียนทั้งหมด 367 เรื่อง 

อันดับ 1 ขอเงินคืน/ยังไม่ได้ใช้บริการ 139 เรื่อง

อันดับ 2 ได้รับผลกระทบ/บาดเจ็บ 68 เรื่อง

อันดับ 3 ร้านหลบหนีปิดกิจการ 52 เรื่อง

อันดับ 4 ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ 34 เรื่อง

อันดับ 5 เรียกร้องค่าเสียหาย 29 เรื่อง

อันดับ 6 การโฆษณาเป็นเท็จ/เกินจริง 25 เรื่อง

อันดับ 7 ร้องขอความเป็นธรรม 12 เรื่อง

อันดับ 8 คุณภาพบริการ 8 เรื่อง 


ข้อกฎหมายว่าอย่างไร

ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นมีข้อยกเว้น ตามมาตรา 329 แต่ทุกคนต้องแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ตามหลักต่อไปนี้ 

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ขณะที่มาตรา 330 ระบุว่า ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ 

แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน


ศาลอาญา

ด้วยระบบยุติธรรมในไทยเป็นระบบกล่าวหา ทำให้ผู้ถูกฟ้องร้องบางรายอาจตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งได้ ต่อไปนี้คือ ข้อความที่กฎหมายกำหนดและทุกคนต้องระวัง

มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท.

ภาพปกจาก Photo by Rune Enstad on Unsplash

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog