เฟซบุ๊กเพจของสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เผยแพร่ความคืบหน้ากรณีนักศึกษาไทยในอียิปต์จำนวน 1 คนถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของอียิปต์จับกุมตัวไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 โดยระบุว่า นศ.คนดังกล่าวให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้สนับสนุนกรปฎิวัติอิสลามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ทั้งยังพบภาพถ่ายในโทรศัพท์มือถือจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธไอเอส (IS)
สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ชี้แจงการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่า ติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น และทราบว่าขณะนี้ นศ.คนดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานความมั่นคงอียิปต์ เพื่อตรวจสอบว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม IS หรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ เพื่อขอเข้าเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือแก่ นศ.ไทย อีกทั้งยังได้ประสานกับผู้แทนระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดติดตามเรื่องดังกล่าว และได้ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ได้ส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานความมั่นคงด้วยแล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้ประสานขอความช่วยเหลือจากผู้แทนระดับสูงของสำนักงานผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลาม (แกรนด์อิหม่าม) และหน่วยงานความมั่นคงของอียิปต์ เพื่อติดตามเรื่องและขอเข้าพบนักศึกษาไทยอีกทางหนึ่ง
สถานเอกอัครราชทูต ฯ ยังได้ออกประกาศเตือนชาวไทยในอียิปต์ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยง ทั้งยังประสานงานกับสมาคมนักเรียนไทยในกรุงไคโรในพระบรมราชูปถัมภ์ และสหชมรมนักศึกษาไทย ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อควรทราบเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับนักศึกษาไทยในการใช้ชีวิตในอียิปต์ด้วยความระมัดระวังด้วยแล้ว อาทิ การไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของอียิปต์ ตลอดจนการไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยงด้านความมั่นคง เป็นต้น
"เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอเรียนให้ทราบว่า สถานเอกอัครราชทูต ฯ มีความห่วงใยในความปลอดภัยของนักศึกษาไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เนื่องจากการจับกุมดังกล่าวเป็นประเด็นด้านความมั่นคงที่ทางการอียิปต์ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก สถานเอกอัครราชทูต ฯ จึงต้องเร่งหาทางให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสวัสดิภาพของนักศึกษาไทยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ฯ จะประสานเพื่อขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางอื่น ๆ ที่สามารถกระทำได้เพิ่มเติมต่อไป"
ขณะเดียวกัน MCOT รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงคำแถลงของ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่ากระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานทูตเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโรแล้ว และไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างการประสานและให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป แต่ต้องรอผลการสอบสวนที่ชัดเจนจากทางการของอียิปต์ก่อน พร้อมเตือนคนไทยที่จะเดินทางไปอียิปต์ ต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎระเบียบ และแนวปฏิบัติในการเข้าเมืองของอียิปต์อย่างเคร่งครัด
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ผู้ชุมนุมชาวอียิปต์ราว 2,000 คนได้รวมตัวกันในหลายพื้นที่ของกรุงไคโร เพื่อประท้วงรัฐบาลและนายพลอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ประธานาธิบดีอียิปต์คนปัจจุบัน ถือเป็นการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลครั้งแรกในรอบหลายปี นับตั้งแต่เอล-ซิซีก่อรัฐประหารยึดอำนาจจาก 'โมฮัมเหม็ด มอร์ซี' อดีตประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้ง เมื่อปี 2556 และเอล-ซิซี ขึ้นครองตำแหน่ง ปธน.แทน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอียิปต์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง รวมถึงอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ว่าใช้ทั้งความรุนแรงและอำนาจทางกฎหมายจับกุมและคุมขังผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซีเป็นจำนวนหลายพันคน ทั้งยังบังคับใช้บทลงโทษขั้นรุนแรง คือ โทษประหารชีวิต
ทั้งนี้ อดีต ปธน.มอร์ซี ถูกรัฐบาลทหารจับกุมและตั้งข้อหากบฎ ปลุกปั่นยุยง รวมถึงใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง และมอร์ซีเสียชีวิตขณะถูกเบิกตัวขึ้นศาลเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม หรือ Muslim Brotherhood ซึ่งสนับสนุนอดีต ปธน.มอร์ซี ถูกรัฐบาลนายพลเอล-ซิซี รวมถึงรัฐบาลซีเรีย รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย ระบุว่าเป็น 'กลุ่มก่อการร้าย' แต่รัฐบาล 2 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์และตุรกี รับรองว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นเพียงองค์กรทางศาสนาและการเมืองเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: