วันที่ 11 ม.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ตั้งกระทู้ถาม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจ จึงมอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบกระทู้แทน
ชัยธวัช กล่าวว่า การดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ 2 ประเด็น คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเรื่องสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง
ประเด็นแรก จำเป็นต้องถาม เพราะคณะกรรมการศึกษาประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญฯ ที่ตั้งโดยรัฐบาล ได้สรุปว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประชามติครั้งแรก จากทั้งหมด 3 ครั้ง จะเป็นการถาม 1 คำถามว่า 'ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์' ตนในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล มีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะสนับสนุนการจัดตั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่คำถามนี้มีปัญหาเกิดขึ้น
ประเด็นแรกคือ ขัดกับหลักประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ตกลงว่าในสังคมไทย ผู้ที่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ จะมีแต่คณะรัฐประหารอย่างนั้นหรือไม่ ประชาชนไม่มีสิทธิ์หรือไม่
ประเด็นต่อมา พรรคก้าวไกลคาดหวังว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ความขัดแย้ง แสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทยที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน
ประเด็นที่ 3 คำถามนี้เป็นความกังวลโดยไม่จำเป็นของรัฐบาล ที่อาจสร้างปัญหาใหม่โดยไม่จำเป็น เนื้อหารัฐธรรมนูญ ในหมวด 1 และ หมวด 2 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติเมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด แต่ตอนนี้มีความพยายามสร้างความกลัวและความเข้าใจผิดทางการเมืองว่า การแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 จะไปกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้อาจสร้างปัญหาเชิงกฎหมาย ปัญหาเชิงการเมือง
ชัยธวัช ย้ำถึงการล็อกหมวด 1 และ 2 ไม่สมเหตุสมผล พร้อมถามคำถามแรกว่ารัฐบาลจะทบทวนข้อเสนอเรื่องคำถามประชามติครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการศึกษาประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทำให้ระหว่างนั้น ไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงประธานให้รักษาเวลา และเงื่อนไขที่ว่าห้ามไม่ให้ถามเหมือนอภิปราย
จากนั้น ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นประวิติศาสตร์ เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกลายเป็นหลุมดำของประเทศ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาต่อเนื่องมา ตั้งแต่สมัยที่พวกเราเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน และยื่นแก้ไขมาแล้วหลายครั้งหลายหลายวิธี มากกว่า 6-7 ครั้ง แต่ไม่เคยผ่านเลยสักครั้ง
แม้กระทั่งครั้งสุดท้าย ที่ยื่นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 ยกเว้นพรรคก้าวไกลที่ไม่ร่วมลงชื่อ และมีความเห็นต่าง ซึ่งตนก็เคารพ แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่านวาระ 2 สิ่งที่สำคัญในขณะนี้เราต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อให้เดินหน้าประเทศให้ได้ ซึ่งเห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่เป็นปัญหา
"แต่พรรคก้าวไกลบอกว่าไม่ควรมาสนใจเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องดูความจริงที่บอกเรามาทุกครั้ง ก่อนตั้งรัฐบาลนี้ก็เห็น ว่าทุกพรรคการเมืองบอกแล้วว่าจะไม่มีการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 จึงเป็นเหตุผลที่พรรคการเมืองเหล่านั้นไม่สามารถร่วมมือกับพรรคก้าวไกลได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็พูดเรื่องนี้ชัดเจนเพราะเห็นจากการกระทำไม่ได้คิดไปเอง และตอนที่พรรคก้าวไกลจะร่วมรัฐบาล ที่ประชุมก็ซักถามเรื่องหมวด 1 หมวด 2"
ภูมิธรรม ย้ำว่า ประเด็นสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าเราปล่อยข้ามเรื่องแก้ไขหมวด 1 หมวด2 ที่ต้องยอมรับว่ามีคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นห่วงและกังวลใจในเรื่องนี้ เชื่อว่าทางออกของสังคมจะไปได้ง่ายขึ้นและพรรคเพื่อไทยก็คิดเช่นนี้มาตลอด และพรรคได้แถลงในฐานะรัฐบาลว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีโดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และพรรคก็หาเสียงมาเช่นนี้ ทำให้ที่ประชุมรัฐสภารวมทั้ง สส. สว.ก็ตอบรับ และยืนยันว่าขณะนี้เราก็ดำเนินการตามนี้ทั้งหมด ตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และพยายามจะหลีกเลี่ยงประเด็นนั้น จึงอยากขอให้มีสติ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ขัดขวาง และพร้อมจะบันทึกความเห็นของทางพรรคก้าวไกลเอาไว้ และคาดว่า หากไม่ถูกทวงจริงภายในไตรมาสแรกก็น่าจะทำประชามติได้ แต่รัฐบาลพยายามจะทำให้เสร็จภายในเดือนมกราคมนี้
" เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นนี้ ขอให้ท่านลงไปถามโดยเฉพาะที่สภาแห่งนี้ และวุฒิสภาด้วยเขาติดใจเรื่องนี้ เขาติดใจเรื่องนี้แล้วจะทำให้เรื่องอื่นๆเราไม่ได้ สิ่งที่สำคัญขนาดนี้เราอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การไม่แต่หมวด 1 หมวด 2 ทำให้หลีกหนีจากปัญหาใหม่ จึงอยากให้แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ผมก็เชิญชวนท่านมาแสดงจุดร่วมกัน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ตกค้างมากถ้าท่านยอมละเว้น แล้วมาทำให้ทุกอย่างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เท่าที่ผมถามเท่าที่ออกไปสำรวจเท่าที่ออกไปฟังเสียงส่วนใหญ่ทั้งหมด เขาไม่ให้มาแต่หมวด 1 หมวด 2 เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นความเห็นที่แตกต่างจากท่าน และพรรคการเมืองของท่าน
"ดังนั้นถ้าจะชวนจริงๆ ผมต้องเป็นคนชวนท่านชวนมาอยู่ร่วมกันอย่าไปแตะเลยครับ เรื่องนี้มันเป็นความไม่สบายใจของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วมาคิดกันว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและมีอำนาจให้มาก อย่าไปหมกมุ่นกับ ประเด็นเดียวรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นประชาธิปไตยได้ ผมคุยกับทุกคนมาเขายินดีที่จะทำให้เป็นประชาธิปไตยและมาร่วมแก้ด้วย และคนที่ทำให้เป็นประเด็นไม่ใช่คนส่วนใหญ่แต่เป็นประเด็นพรรคท่าน ที่หยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทุกครั้งมากเกินไป" ภูมิธรรม กล่าว
ส่วนประเด็นที่ ยังไม่ตั้งคำถามเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ภูมิธรรม กล่าวว่า เราอยากตั้งคำถามให้ชัดเจน เพราะครั้งที่แล้วหลังจากที่สภาไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญได้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และบอกชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชามติของประชาชนดังนั้นหากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ขอให้ไปหารือประชาชนก่อน เพราะรัฐธรรมนูญที่ประชาชนลงมติมาเนื้อหาก็เป็นอย่างที่เห็น ดังนั้นตรงนี้จึงเอาคำถามเดียวเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ส่วนประเด็นที่จะถามเรื่อง สสร.ตนคิดว่าเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ที่ยังไม่จำเป็นต้องสร้างความสับสนในเรื่องของคำถามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะสามมนูญอยากให้ประชาชนผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินใจ ขอโปรดเข้าใจตรงนี้ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น
อย่างไรก็ตาม ชัยธวัช แย้งว่าหลังจากที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ยังคงมีการดำเนินคดีทางการเมืองต่อผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 9 คดี และผู้ต้องหาบางคนไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว จากปัญหาหลักเกณฑ์ที่ไม่แน่นอน กระทบต่อสิทธิของประชาชน เช่นเดียวกับการคุกคามทางการเมืองก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ยิ่งรุนแรงมากขึ้น จากกรณีการรักษาตัวนอกเรือนจำบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับกรณีทั่วไปเป็นเรื่องที่ยากมาก
จากนั้น ไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยได้ลุกขึ้นประท้วงทันที ขอให้ ชัยธวัช รักษาเวลาในการตั้งคำถาม เพราะตอนนี้ได้ใช้เวลาหมดลงไปแล้ว ประธานฯ จึงอนุโลมในประเด็นที่ประท้วงให้ เนื่องจากยังอยู่ในประเด็นที่ต้องการถาม
ชัยธวัช จึงถามต่อไปว่า ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการตั้งคำถาม ถึงความเสมอภาค ในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลอาจอ้างว่าเรื่องนี้ถูกต้องตามระเบียบ แต่ตอนนี้มีผู้ที่ ได้รับสิทธิ์ไปรักษานอกเรือนจำเกิน120 วัน เพียง3คน
ทันใดนั้น ไชยวัฒนา ได้ยกมือประท้วงอีกครั้ง เนื่องจากเป็นการถามนอกประเด็น จนทำให้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ไชยวัฒนา ว่า "เมื่อประธานวินิจฉัยเรื่องเวลาแล้วถือเป็นเด็ดขาด แต่คุณไชยวัฒนายังมีพฤติกรรมดื้อดึง ยกมือขึ้นยกมือลงไม่จบไม่สิ้น ทำไมชั้น 14 แตะไม่ได้เลยหรือไร ผมจะเอาข้าวผัดกับโอเลี้ยงไปฝาก"
ไชยวัฒนา จึงโต้กลับว่า "คุณวิโรจน์ยังเลอะเทอะอยู่ เพราะในการประชุมครั้งที่แล้วคุณวิโรจน์ก็พูดคำว่าสันดานในที่ประชุม ผมยังไม่ประท้วงเลย เดชะบุญของคนกรุงเทพมหานคร"
วิโรจน์ จึงได้ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิงกับ ไชยวัฒนา ว่า "การพูดแบบนี้ก็ส่อถึงพฤติกรรมของคนพูด แล้วขอยืนยันว่า คำวินิจฉัยของประธานในเรื่องเวลาเป็นอันเด็ดขาด หากมีพฤติกรรมยกมือขึ้นยกมือลง คำที่พูดเมื่อกี้ก็จะย้อนกลับมาที่ตัวท่านเอง"
จากนั้น ภูมิธรรม ได้ลุกขึ้นตอบคำถามถึงการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยใช้มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการคุกคาม หรือทำให้เกิดความหวาดกลัว เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมจะมีกระบวนการ ทางกฎหมายดูแลอยู่ แต่ที่หลายคนมองว่าเป็นประเด็น ก็เป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงคือทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ส่วนกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมไม่เป็นธรรม หรือเป็นปัญหาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไข เพราะหากมีกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ก็จะลำบากใจ หากไม่ทำเจ้าหน้าที่ก็จะโดนมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงขออย่าไปท้าทายกฎหมาย
ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ขอให้หันหน้ามาพูดคุยกัน ด้วยการหาทางออกอย่างสันติ ส่วนที่ได้มีการกล่าวถึงความเสมอภาคเท่าเทียม และชั้น 14 ตนมองว่า ชัยธวัช ไม่ได้ทำความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายเท่าที่ควร หากเข้าใจจะไม่รู้สึกเช่นนี้ เพราะกฎหมายที่ออกมาทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม และกฎหมายฉบับนี้ก็เกิดตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้เป็นคนสร้างขึ้นมาเพื่อใคร ผู้ที่อยู่ในเรือนจำหากแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยก็ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย เรื่องชั้น 14 เมื่อแพทย์วินิจฉัยก็ถือเป็นอันสิ้นสุด
"หากท่านอยากเรียกร้องอะไร ก็ไปเรียกร้องกับแพทย์ที่รับผิดชอบ อย่าเอากระบวนการที่ทำโดยปกติมาโยนใส่รัฐบาล และทำให้กลายเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เสมอภาคกันขอให้ใจกว้างๆและใจเย็นๆ และคิดให้ดี หากยังจุกจิกแบบนี้ ปัญหาของประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ขอให้ใจเที่ยงธรรม หากกฎหมายฉบับนี้ต้องการออกมาเพื่อคนคนเดียว ถือเป็นเรื่องไม่ถูกไม่มีใครเขาทำ กฎหมายทุกวันนี้เพื่อคนส่วนใหญ่ ตามหลักสากล" ภูมิธรรม กล่าว