ไม่พบผลการค้นหา
'ชลน่าน' ย้ำตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ใช่ของพรรคใด ชี้ต้องนั่งคุยกัน เหตุสังคมสนใจ เผย 'เพื่อไทย' ยังไม่เคาะใครเหมาะนั่งตำแหน่ง ยันจับมือกันแน่นกับ 'ก้าวไกล' ตั้งรัฐบาล ป้อง 'พิธา' ไม่เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติปมรับรอง ส.ส.ก้าวไกล หากมีปัญหาคดีถือหุ้นไอทีวี

วันที่ 31 พ.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการพูดคุยข้อสรุปเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรกับพรรคก้าวไกลว่า คณะเจรจาเริ่มพูดคุยตั้งวานนี้(30 พ.ค.) แล้ว โดยข้อสรุปที่นำมาแถลงวานนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของคณะเจรจาระหว่างพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย และลักษณะงานที่จะขับเคลื่อนเกี่ยวข้องกับสภาค่อนข้างเยอะ ดังนั้น การจะไปปรับโครงสร้าง หรือการแก้ไขปัญหาจะต้องไปดูที่ตัวกฎหมาย ซึ่งเห็นว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่สังคมคาดหวัง ว่าจะต้องไม่เป็นตำแหน่งที่มีความขัดแย้งระหว่างกัน ทางคณะเจรจาจึงพิจารณาทางเดียวกัน ว่าจะไม่ใช่โควต้าของพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยสองพรรคต้องมานั่งคุยกันเสมือนเป็นพรรคเดียวกัน และจะยังไม่ได้ข้อสรุปในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ เนื่องจากคณะทำงานได้แยกกันคนละส่วน 

ขณะที่กระแสข่าวตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในส่วนของพรรคเพื่อไทย มีชื่อของ นพ.ชลน่าน จาตุรนต์ ฉายแสง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ออกมานั้น นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า ภายในพรรคยังไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องตำแหน่งและตัวบุคคล รวมถึงตำแหน่งของแต่ละกระทรวง แต่จะใช้วาระงานเป็นตัวกำหนด และแบ่งงานกันทำ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป หากได้ข้อสรุปแล้วจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคตามระเบียบข้อบังคับพรรค

เมื่อถามถึงกรณีที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้ความเห็นว่า ถ้าหากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ในประเด็นขาดคุณสมบัติ ในประเด็นถือหุ้นไอทีวี และถูกร้องเรื่องการรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกล อาจจะต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศ นพ.ชลน่าน ตอบว่า ประเด็นนี้มีการพูดคุยกันอยู่ เพราะคุณสมบัติของหัวหน้าพรรค ที่ไปลงนามรับรองผู้สมัครของพรรค มีคุณสมบัติครบหรือไม่อย่างไร ต้องไปดูประเด็นนั้น ยกตัวอย่างกรณีของตนเอง ผู้สมัคร พรรคเพื่อไทย จ.นนทบุรี ถูกชี้ว่า คุณสมบัติไม่ครบ เพราะถูกจำกัดสิทธิ จากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หลายฝ่ายมองว่า หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบร่วมด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว การถูกจำกัดสิทธิ ไม่ใช่ลักษณะต้องห้าม เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นว่าหัวหน้าพรรคที่เซ็นไปลงสมัครรับเลือกตั้งต้องรับผิดชอบ และหัวหน้าพรรคจะรับผิดชอบเฉพาะกรณีที่ไปลงนาม ตัวผู้สมัครที่รู้อยู่ว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติ และ มีคุณสมบัติต้องห้าม และเมื่อเขามีคุณสมบัติต้องห้าม และยังลงนามให้เขาไปลงรับสมัคร ต้องรับผิดชอบทางอาญา

เมื่อถามว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับ พิธา ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง ยังคงให้โอกาสพรรคก้าวไกลในกาจัดตั้งรัฐบลหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า ตนยืนยันว่าเรายังมัดกันแน่น และยังคงทำงานร่วมกันเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมีอะไรขึ้น ก็ยังคงทำงานกันต่อไป ส่วนรายละเอียด ก็ดูเป็นเรื่องๆ ไป