วันที่ 2 เม.ย. 2565 ที่ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (อิสระ) เบอร์ 8 เป็นประธานเปิดเทศกาล 'หมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง" (Circular Urban Farm Fair) ตอน 'ชอบจึงหมัก รักจึงปลูก' และร่วมเสวนาในหัวข้อ 'มุมมองขยะกรุงเทพมหานคร สู่เส้นทางการหมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการประกอบการเกษตรอินทรีย์ในเมืองบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
ชัชชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะ 3.2 ล้านตันต่อปี แต่ละปีต้องใช้งบประมาณในการจัดการขยะถึง 11,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ มีพื้นที่ว่างมากถึง 120,511,643.05 ตารางเมตร หรือประมาณ 7,000 ไร่ และมีพื้นที่ว่างบนดาดฟ้าอีก 2,810 อาคาร ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ การใช้พื้นที่จำกัดในกรุงเทพฯ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Green City เป็นโอกาสอันดีในการช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมืองและปัญหาพื้นที่ฝังกลบ ซึ่งสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
"เมืองน่าจะเปลี่ยนได้ หากทุกคนช่วยแยกขยะ ปลูกผักอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารด้วยกัน พร้อมทั้ง กทม. ต้องลงทุนในระบบโลจิสติกส์ในการเก็บขยะ ซึ่งระยะยาวจะช่วยให้ต้นทุนในการเก็บขยะนั้นลดลง" ชัชชาติกล่าว
นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังกล่าวถึงกิจกรรมที่โครงการทำอยู่นั้น จะช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทุกมิติ การลดการขนส่งจากตลาดไทเป็นแปลงผักบนหลังคาในเมืองก็ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ อุณหภูมิในตึกจะเย็นขึ้น จึงมีโครงการแนะนำว่า 1 ชุมชน 1 แปลงเกษตรอินทรีย์
"กทม. ต้องเอาจริงเอาจัง เพราะไม่ใช่แค่เรื่องแยกขยะ แต่มันกระทบในทุกมิติ" ชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติ ยังกล่าวไปถึงนโยบายสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กรุงเทพฯ โดยเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากสามารถจัดส่งอาหารใน 15 นาทีสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ ก็จะทำให้มีความมั่นคงทางอาหารได้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอสินค้าจากตลาดหรือจุดขายส่งชานเมือง ชัชชาติ แนะนำว่า กทม. ควรมีแอพพลิเคชั่นกลาง ทั้งแบบอนาล็อกและดิจิทัล ที่พ่อค้าคนกลางส่งราคากลางมาทุกเช้า และกรอกยอดปริมาณสินค้าตลาดกลางให้ได้
"กทม. ต้องใช้ผักของตัวเองก่อน ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อนที่จะไปขนส่งมาจากที่อื่น ผมคิดว่าจะมีประโยชน์ตามมาหลายอย่าง ทั้งความเป็นสีเขียว และการศึกษาสำหรับเด็ก" ชัชชาติระบุ