ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีมอบรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทุกกระทรวงกำกับและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณหน่วยงานภายใต้การดูแลให้เป็นไปตามเป้าหมาย ผลักดันเม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจ

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้รายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ทราบถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ ไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค.2563 - 31 มี.ค.2564) ว่าแม้จะอยู่ระหว่างเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งมิติพื้นที่และกลุ่มธุรกิจ การลงทุน และการดำเนินชีวิตของประชาชน แต่ปรากฎว่าผลการใช้จ่าย โดยเฉพาะการก่อหนี้ผูกพันของส่วนราชการและหน่วยรับงบประมาณต่างๆ ในภาพรวมถือว่าสูงกว่าเป้าหมายตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และแผนการใช้จ่ายงบประมาณกำหนดแต่ก็ยังมีความจำเป็น ที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในบางประเด็น เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย และมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณนี้


กระตุ้นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีข้อสั่งการให้ส่วนราชการ และหน่วยรับประมาณทุกหน่วยดำเนินการตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณอย่างเคร่งครัด โดยให้เร่งดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะกรณีรายจ่ายลงทุนรายการปีเดียว และรายการผูกพันใหม่ให้แล้วเสร็จ เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณแล้ว และให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล หรือควบคุมกิจการของหน่วยรับงบประมาณหรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎกมายกำกับดูแล เร่งรัดติดตามและประเมินการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือแผนที่กำหนด โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและการกระตุ้นให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ การที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีต่อเนื่อง ให้ทุกหน่วยรับงบประมาณพิจารณาแนวทางการใช้จ่าย ที่สอดคล้องกับปริบทใหม่ที่เปลี่ยนไป (new normal) เพื่อให้การใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์กับประชาชน ส่วนกรณีปัญหาที่หน่วยงานยังมีข้อติดขัดเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ให้กระทรวงการคลังเร่งสร้างการรับรู้ และทำความเข้าใจแก่บุคลากรของหน่วยรับงบประมาณให้ต่อเนื่องและชัดเจน

สำหรับข้อมูลการเบิกจ่ายที่สำนักงบประมาณรายงานนั้น จากงบประมาณรายจ่ายรวม 3.28 ล้านล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ส่วนราชการ ตลอดจนหน่วยรับงบประมาณต่างๆ ได้เบิกจ่ายแล้ว 1.55 ล้านล้านบาท มีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.21% และ 54.24% ตามลำดับ แต่หากพิจารณาเฉพาะงบประมาณรายจ่ายกรณีไม่รวมงบกลาง วงเงินงบประมาณรวมจะอยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 1.30 ล้านล้านบาท คิดเป็น 48.96% ต่ำกว่าเป้าหมาย 5.04% ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1.53 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57.59% สูงกว่าเป้าหมาย 3.59%

ทั้งนี้ กรณีไม่รวมงบกลางเฉพาะรายจ่ายประจำ จากวงเงินรวม 2.08 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 55.09% ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.91% ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 56.01% ต่ำกว่าเป้าหมาย 0.99% ขณะที่รายจ่ายลงทุนจากวงเงินรวม 5.87 แสนล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.59 แสนล้านบาท คิดเป็น 27.19% ต่ำกว่าเป้าหมาย 17.81% ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 3.71 แสนล้านบาท คิดเป็น 63.22% สูงกว่าเป้าหมาย 18.22%