ไม่พบผลการค้นหา
ประธานาธิบพลเรือนของไนเจอร์ที่ถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหารโดยทหาร ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ และ "ประชาคมระหว่างประเทศทั้งหมด" ช่วยกัน "ฟื้นฟู... ระเบียบตามรัฐธรรมนูญ" หลังการรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยในบทวิจารณ์ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ The Washington Post โมฮาเหม็ด บาซูม ประธานาธิบดีไนเจอร์ กล่าวผ่านข้อเขียนว่าเขาถูกจับ "เป็นตัวประกัน"

เหตุความไม่สงบหลังรัฐประหารปะทุขึ้นในไนเจอร์ นับตั้งแต่บาซูมถูกโค่นล้มลงจากอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ส.ค.) ผู้นำรัฐประหารประกาศว่า พวกเขากำลังถอนเอกอัครราชทูตของไนเจอร์ออกจากฝรั่งเศส สหรัฐฯ ไนจีเรีย และโตโก โดยในแถลงการณ์ที่ประกาศผ่านทางโทรทัศน์แห่งชาติ ผู้นำรัฐประหารกล่าวว่าหน้าที่ของเอกอัครราชทูตทั้ง 4 คนถูก "ยุติ" ลงแล้ว

การรัฐประหารในครั้งนี้สร้างความกังวลให้กับชาติตะวันตก จากบทบาทรรัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไนเจอร์เป็นผู้ผลิตยูเรเนียมรายใหญ่ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญสำหรับพลังงานนิวเคลียร์ และตั้งอยู่บนเส้นทางการอพยพที่สำคัญไปยังแอฟริกาเหนือและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ในบทความในหนังสือพิมพ์ บาซูมเตือนว่าหากการรัฐประหารทำได้สำเร็จ จะมี "ผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศของเรา ภูมิภาคของเรา และทั้งโลก" ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไนเจอร์ระบุว่า “การต่อสู้เพื่อค่านิยมร่วมกันของเรา ซึ่งรวมถึงประชาธิปไตยแบบพหุนิยมและการเคารพหลักนิติธรรม เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในการต่อต้านความยากจนและการก่อการร้าย” บาซูมยังระบุเสริมอีกว่า "ชาวไนเจอร์จะไม่มีวันลืมการสนับสนุนของคุณ ในช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของเรา"

บาซูมยังเตือนถึงการเชื่อมโยงของผู้นำการรัฐประหารไนเจอร์ กับกลุ่มทหารรับจ้างชาวรัสเซียวากเนอร์ ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่อื่นของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และถูกมองว่ากำลังใช้อิทธิพลในทางร้ายในไนเจอร์ “ภูมิภาคซาเฮลทางตอนกลางทั้งหมด อาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียผ่านทางกลุ่มวากเนอร์ ซึ่งมีการก่อการร้ายอย่างโหดเหี้ยมในยูเครน” บาซูมระบุ

ผู้สนับสนุนการรัฐประหารในไนเจอร์จำนวนมาก ได้ร่วมกันตะโกนคำขวัญสนับสนุนรัสเซีย และสวมผ้าสีธงชาติรัสเซีย โดยเมื่อวันพฤหัสบดี ประชาชนไนเจอร์หลายพันคนเดินไปตามท้องถนนในกรุงนีอาเม เมืองหลวงของไนเจอร์ ซึ่งเป็นการเดินขบวนอย่างสันติแต่ให้การสนับสนุนการรัฐประหาร และวิพากษ์วิจารณ์ประเทศในแอฟริกาตะวันตกอื่นๆ ที่บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและการค้าต่อไนเจอร์ หลังเกิดการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

ตามรายงานของสหรัฐฯ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าวากเนอร์เกี่ยวข้องกับการโค่นล้มบาซูม ผ่านการทำรัฐประหารลงจากอำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้นำของวากเนอร์อธิบายว่าการรัฐประหารครั้งนี้นับเป็นชัยชนะ ในทางตรงกันข้าม การรัฐประหารโดยกองทัพยังถูกประณามจากนานาชาติ รวมทั้งสหภาพยุโรป สหประชาชาติ และสหรัฐฯ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับบาซูมผ่านทางโทรศัพท์ โดยสหรัฐฯ กล่าวในภายหลังว่า พวกเขามุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของไนเจอร์

บาซูมเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตยคนแรกในไนเจอร์ แต่เขากลับถูกกองทัพไนเจอร์ควบคุมตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่ พล.อ.อับดูราห์มาน ชีอานี ผู้นำการรัฐประหารได้ประกาศให้ตัวเองเป็นประมุขแห่งรัฐ

ไนเจอร์เป็นส่วนสำคัญของภูมิภาคแอฟริกาที่เรียกว่าซาเฮล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกลุ่มนักรบญิฮาดและถูกรุมล้อมด้วยระบอบทหาร โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไนเจอร์ถูกมองว่าเป็นตัวอย่างของความมั่นคง ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาลีและบูร์กินาฟาโซต้องยอมจำนนต่อการรัฐประหารของกองทัพ นอกจากนี้ ไนเจอร์ยังเป็นที่ตั้งของฐานทัพฝรั่งเศสและสหรัฐฯ และถูกมองว่าเป็นพันธมิตรหลัก ในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏอิสลาม

รัฐบาลของประธานาธิบดีบาซูมเป็นพันธมิตรกับประเทศต่างๆ ในยุโรป ที่พยายามหยุดยั้งการไหลเข้าของผู้อพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยไนเจอร์ผ่านใต้บาซูมตกลงรับผู้อพยพหลายร้อยคน กลับจากศูนย์กักกันในลิเบีย เขายังปราบปรามผู้ค้ามนุษย์อีกด้วย


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-africa-66402037?fbclid=IwAR1afqg25QkNU8UPmj-wQQcKc7bTpz7wxFPhsmPDApre67aNrV498KBLVsw