ศาลอาญาได้มีการนัดไต่สวน กรณีที่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจ (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งปิดช่องทางออนไลน์ของสำนักข่าว Voice TV และ ศาลมีคำสั่งให้ปิดตามคำร้องไปเมื่อวานนี้ (20 ต.ค.2563)
ล่าสุดเวลา 14.00 น. ศาลได้มีการนัดฟังคำสั่งตามคำร้องดังกล่าว โดยตัดสินให้ยกเลิกคำสั่งศาลในวันที่ 20 ต.ค. 2563 ที่มีคำสั่งปิด Voice TV และให้ยกเลิกทุกคำร้อง โดยศาลพิจารณาเห็นว่าเนื่องจากผู้ร้อง ไม่แสดงเหตุชัดเจนว่าจะให้ศาลปิดเนื้อหาบางส่วน หรือปิดทั้งหมด จึงขอยกเลิกคำร้อง ที่ดีอีเอสร้องยังตำรวจ ขณะเดียวกันยกเลิกคำสั่งที่เคยขอให้ศาลระงับช่องทางการเผยแพร่ข่าวของ ประชาไท , The reporter, The standard และเพจเยาวชนปลดแอก-Freeyouth
กรณีดังกล่าวข้างต้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 35 วรรคสอง บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร มาตรา 36 วรรคหนึ่ง บัญญัติรับรองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกัน การตีความพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ก็ดี พระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (3) ก็ดี จึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรมญดังกล่าว
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 20 ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ และมาตรา 3 ของพระราชบัญญัตินี้ ระบุว่า "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" หมายถึง ข้อมูลข้อความ ...ในระบบคอมพิวเตอร์
ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายย่อมมุ่งหมายที่จะให้ศาล ห้าม โดยเฉพาะเจาะจงซึ่งข้อมูลที่เป็นความผิด ตามมาตรา ๒๐ (๑)(๓) โดยเฉพาะเจาะจงเป็นข้อความ ส่วนพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 (3)ห้ามการเสนอข่าวที่มีข้อความทำให้ประชาชนหวาดกลัวนั้น กฎหมายประสงค์ให้ห้ามเป็นการเฉพาะข่าวหรือข้อความ เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการห้ามเข้าถึงข้อมูลหรือข้อความที่มีการนำเสนอปรากฏต่อศาลในปัจจุบันแล้วขัดต่อกฎหมาย กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ศาลมีคำสั่งปิดช่องทางการสื่อสารของบุคคลหรือสื่อสารมวลชน ทั้งช่องทาง ซึ่งมีผลการนำเสนอข้อความในอนาคตที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิดด้วย
ส่วนความขัดข้องในเรื่องการปิดกันการเข้าถึงทางเทคนิคนั้นเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงหลักกฎหมาย
ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ทั้ง 20 รายการ ซึ่งเป็นการปิดช่องทางการสื่อสารของ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี สำนักพิมพ์ประชาไท, The Reporters, The STARNDARD หรือของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอให้ปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วน ที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งศาลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งศาลที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ ยกคำร้อง
ทั้งนี้ ตำรวจผู้ร้องได้นำหลักฐานเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวสารของสำนักข่าววอยซ์ ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง 5 ช่องทาง ประกอบด้วย เว็บไซต์ Voice TV, เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม, และยูทูบ รวม 12 URL นำเสนอต่อศาล โดยระบุว่า เป็นเนื้อหาที่เผยแพร่ วันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อย บางส่วนมีเนื้อหาการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้เกิดความรุนแรงและข้อความในลักษณะเชิญชวนให้มีการไปร่วมชุมนุม ซึ่งขัดต่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยอมรับว่าหลังจากตรวจสอบข้อความไม่ได้เรียกผู้บริหารมาชี้แจงถึงการนำเสนอข่าวดังกล่าวแต่มีคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงฯ ได้มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจึงนำหลักฐานมายื่นฟ้องต่อศาลทันที
ด้าน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปราบการทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศกระทรวงดีอีเอส บอกว่า ก่อนหน้าที่ทางกระทรวงได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังผู้กระทำความผิดในช่วงการชุมนุมซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือส่งมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสพิจารณาการนำเสนอข่าวของสำนักข่าว 5 สำนักประกอบด้วย วอยซ์ทีวี, ประชาไท, the reporter, the standard และเยาวชนปลดแอก-Freeyouth เนื่องจากนำเสนอฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทางกระทรวงดีอีเอาจึงเข้าตรวจสอบในช่องทางการนำเสนอข่าวของการนำเสนอของสำนักข่าวนั้นๆและพบข้อความที่เข้าข่ายความผิดในลักษณะการเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมจึงร้องขอให้ศาลปิดเว็บไซต์และช่องทางการนำเสนอของวอยซ์ ซึ่งจำเป็นต้องขอให้ปิดทั้งเว็บไซต์จะปิดเฉพาะข่าวที่นำเสนอและพบมีความผิดอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่าวมีระบบรักษาความปลอดภัย มีการเข้ารหัส และทางเทคนิคไม่สามารถปิดกั้นเฉพาะบางส่วนได้จึงขอให้ปิดทั้งหมด
ยกคำร้องขอปิด 3 สื่อออนไลน์-เพจเยาวชนปลดแอก
วิญญัติ ชาติมนตรี ในฐานะทนายความ Voice TV ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลยกคำร้อง เพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญคุ้มครองเสรีภาพการสื่อสารของประชาชนและสื่อมวลชน อีกทั้ง ผู้ร้องคือ ดีอีเอส ไม่ได้เจาะจงเนื้อหาที่ผู้ร้องเชื่อว่าผิดกฎหมายและยังลัดขั้นตอน ไม่มีการตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องตรวจสอบก่อน ดังนั้น การให้ปิดทุกแพลตฟอร์มหรือทุกช่องทางสื่อสารนั้นไม่สามารถกระทำได้
ซึ่งการไม่แสดงเหตุชัดเจนว่าจะให้ศาลปิดเนื้อหาบางส่วนหรือปิดทั้งหมด จึงได้ยกเลิกคำร้อง กรณีสั่งปิด Voice TV และยังได้ยกเลิกคำสั่งที่เคยขอให้ศาลระงับ ช่องทางการเผยแพร่ข่าวของ สำนักข่าวประชาไท ,The reporter , The standard และเพจเยาวชนปลดแอก-Freeyouth ด้วย
กองบก. วอยซ์ ทีวี เดินหน้าปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลัง-ขยายช่องทางคู่ขนาน
ด้าน กองบรรณาธิการวอยซ์ ทีวี ยืนยัน จะเดินหน้าปฎิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มกำลัง ยืนหยัดรับผิดชอบที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง ตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชน และส่งเสริมประชาธิปไตย พร้อมขยายช่องทางการออกอากาศร่วมกับผู้ให้บริการในหลายช่องทางเพิ่มเติม ได้แก่ https://www.facebook.com/freeVOICEth/ และ https://youtube.com/channel/UCyO1x5ruqmgnuIh61P40K1Q ที่ผู้ชมสามารถติดตามได้ ตั้งแต่วันนี้ โดยจะทำงานเป็นช่องทางพันธมิตร ที่ออกอากาศและนำเสนอข่าวสารควบคู่กันไปกับช่องทางหลักในปัจจุบันของวอยซ์ทีวีรวมทั้งทีวีดาวเทียมที่กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานหาผู้ร่วมให้บริการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง