ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2510 โดยมีรัฐสมาชิกร่วมก่อตั้งห้าชาติ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี กว่าสามชาติได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย มีการประกาศใช้ภาษาราชการหรือภาษาทางการเป็นภาษามลายู ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยทั้งในไทยและฟิลิปปินส์เองต่างก็มีการใช้ภาษามลายูในบางพื้นที่ของประเทศด้วย

ทั้งนี้ อิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เสนอเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้อาเซียนยกภาษามลายูขึ้นมาเป็นภาษาที่สองของอาเซียน หลังจากที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ต่างเป็นประเทศที่มีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางในการสื่อสาร รวมถึงเป็นภาษาของคนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชาด้วย

AFP - อิสมาอิล มาเลเซีย ประยุทธ์ ไทย

อิสมาอิล ซาบรี กล่าวว่า ตนจะหารือกับชาติสมาชิกอาเซียนที่มีภาษาทางการเป็นภาษามลายู รวมถึงประเทศที่มีคนกลุ่มน้อยพูดภาษาดังกล่าว เพื่อผลักดันให้มลายูเป็นภาษาที่สองของอาเซียน รองมาจากภาษาอังกฤษที่ถูกใช้อยู่ในการประชุมและเอกสารราชการของอาเซียนในปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันนี้ ชาติสมาชิกทั้งสิบของอาเซียนต่างยึดภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการสื่อสาร อย่างไรก็ดี ในการประชุมแต่ละครั้งมีผู้นำกว่า 6 ชาติที่เลือกการใช้ล่ามแปลภาษาแม่ของตนเองจากภาษาอังกฤษอีกที จึงนำมาสู่การผลักดันภาษามลายูให้กลายเป็นภาษากลางที่สองของอาเซียนในครั้งนี้


ส.ส.ไทยเห็นพ้องนายกฯ มาเลเซีย

เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวไทยบางกลุ่ม หลังจากที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ แสดงความเห็นด้วยหลังจากที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพยายามผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษาที่สองของกลุ่มประเทศอาเซียน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “เราค้นพบแล้วว่าภาษาและวัฒนธรรมต้องไม่มีดินแดน มาเลเซียผลักดันเป็นภาษาที่สองอาเซียน ที่อาจจะเป็นภาษาราชการในประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เหมือนตบหน้านายกรัฐมนตรีไทย ด้วยความคิดที่เป็นชาตินิยมของผู้นำ ที่มองว่าภาษามลายูเป็นภัย การมองภาษาเป็นภัย เป็นการทำร้ายภาษา แต่โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม ผู้นำศาสนาต่างๆ ที่ร่วมกันรักษาปกป้องรักษาไว้ถึงวันที่เห็นความสำคัญ”

ทวี สอดส่อง ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย b101886545fd505_4134778669_210305_9.jpg

ก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ปีก่อน พ.ต.อ.ทวีระบุว่าตอนตนเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ได้นำเรื่องภาษามลายูเอาเรื่องเข้า ครม.และ บอกว่าต่อไปนี้ป้าย ไม่ว่าจะเป็นอนามัย สถานีตำรวจ อำเภอ สถานที่ราชการต่างๆ อย่างน้อยต้องมี 3 ภาษา คือ 1 ภาษาไทย 2 ภาษามลายู 3 ภาษาอังกฤษ

ความเห็นของ พ.ต.อ.ทวี นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวไทยบางส่วนที่ยังคงมีอคติต่ออัตลักษณ์ชนชาติมลายู ซึ่งจำนวนหนึ่งในนั้นมีแหล่งที่อยู่อาศัยบริเวณตอนใต้ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ มีความเห็นของประชาชนบางกลุ่มระบุว่าควรผลักดันภาษาอังกฤษก่อนหรือไม่ อย่างไรก็ดี อาเซียนเองมีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางขององค์การอยู่แต่แรกแล้ว


รู้จักภาษามลายู

ภาษามลายูอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ปัจจุบันนี้ ภาษามลายูมีสถานะเป็นภาษาราชการในบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังถูกใช้ในการสื่อสารกันอย่างไม่เป็นทางการในติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นประเทศสังเกตการณ์ของอาเซียน ตลอดจนถูกใช้ในบางส่วนของไทย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา

มลายูเป็นภาษาแม่ของผู้คนตลอดสองฟากช่องแคบมะละกา ยาวไปถึงคาบสมุทรมลายู และชายฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา บอร์เนียว นอกจากนี้ยังใช้เป็นภาษาการค้าในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ภาษามลายูถูกประกาศให้เป็นภาษาประจำชาติในรัฐเอกราชหลายแห่งของอาเซียน โดยแยกได้เป็น

- ภาษามลายู (Bahasa Melayu) ในบรูไนและสิงคโปร์

- ภาษามลายู (Bahasa Melayu) หรือ ภาษามาเลเซีย (Bahasa Malaysia) ในมาเลเซีย

- ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia) ในอินโดนีเซีย

AFP - อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ดี ในหลายพื้นที่ทางตอนกลางและตอนใต้ของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งมีภาษามลายูเป็นภาษาพื้นเมือง ชาวอินโดนีเซียจะเรียกภาษาดังกล่าวว่าภาษามลายู และมองว่าเป็นภาษาหนึ่งในบรรดาภาษาประจำภูมิภาคของตน

อย่างไรก็ดี ภาษาที่ถูกพูดในมาเลเซียกับอินโดนีเซียมีความแตกต่างกันในบางประการ เช่น ไวยกรณ์ การออกเสียง ความหมายของคำ แต่ทั้งสองภาษามีความใกล้เคียงกันอยู่อย่างมาก คล้ายกันกับกรณีภาษาไทยกับลาว และตระกูลภาษาไท-กะไดที่ถูกใช้บริเวณบางส่วนของเมียนมาเวียดนาม และจีน นอกจากนี้ ภาษามลายูในมาเลเซียยังได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากภาษาอังกฤษ ในขณะที่ภาษามลายูในอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากภาษาดัตช์จากการเป็นอดีตอาณานิคมชาติยุโรป


ประชากรศาสตร์ทางภาษามลายู

อาเซียนเองมีประชากรอย่างน้อย 655 ล้านคน โดยคิดเป็น 8.5% ของประชากรโลก ทั้งนี้ มีประชากรในอาเซียนที่พูดภาษามลายูประมาณ 200-290 ล้านคน (โดยเป็นประชาชนในอินโดนีเซียที่ระบุว่าตนเองพูดภาษามาตรฐานอินโดนีเซียกว่าอีก 260 ล้านคน) ซึ่งคิดเป็นประชากรกว่า 44% ของอาเซียนที่พูดภาษามลายู โดยแบ่งได้เป็น

- อินโดนีเซีย (ภาษาอินโดนีเซีย) 260 ล้านคน

- มาเลเซีย (ภาษามาเลเซีย) 15.7 ล้านคน

- สิงคโปร์ (ภาษามลายู) 8.2 แสนคน

- บรูไน (ภาษามลายู) 4.4 แสนคน

- บางส่วนในไทย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ล้านคน

275465361_1011558259567787_7869975304593213236_n.jpg

พัฒนาการทางภาษาของภาษามลายูคาดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลามกว่าหลายพันปี ในบริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของบอร์เนียว หรือที่เรียกว่าภาษาโปรโตมาเลย์ ซึ่งคาดว่าเป็นต้นตระกูลของภาษามลายูต่างๆ ที่ถูกใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่ภาษามลายูจะเริ่มขยายตัวออกไปทั่วทั้้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นมหาสมุทร

ภาษามลายูถูกพูดทั้งในบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ติมอร์ตะวันออก สิงคโปร์ บางส่วนของประเทศไทย และตอนใต้ของฟิลิปปินส์ แต่ละสถานที่มีพัฒนาการทางภาษามลายูที่ต่างกันออกไป โดยอินโดนีเซียเริ่มมีการควบคุมกฎเกณฑ์ทางภาษาต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เด่นชัดของตัวเอง ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ยังคงมาตรฐานภาษามลายูเอาไว้ เช่นเดียวกันกับบรูไนที่มีมาตรฐานภาษาที่ใกล้เคียงกัน แตกต่างกันแต่เพียงสำเนียงที่ใช้พูด

นอกจากนี้ ภาษาไทยยังคงมีการยืมคำจำนวนมากมาจากภาษามลายูมาใช้จำนวนมาก เช่น กรง บูดู สลัก โสร่ง จับปิ้ง กระดังงา กำยาน ปาเต๊ะ สลาตัน หนัง กระจง กำปั่น ตลับ มังคุด สลัด (โจร) กะพง กะลาสี กุญแจ ทุเรียน สละ ปอเนาะ กริช กัญชา น้อยหน่า รำมะนา อังกะลุง ปัตตานี ยะลา รวมถึงภาษาไทยสำเนียงใต้ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษามลายูโดยตรง ไม่นับรวมถึงชาวมลายูที่พูดภาษาดังกล่าวในชีวิตประจำวัน

ภาษามลายูเป็นภาษาที่ถูกใช้กันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับพันปี หรือก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม ภาษามลายูจึงเป็นอีกหนึ่งภาษาที่มีพลวัตรในตัวของมันเอง ซึ่งสอดประสานไปกันกับวัฒนธรรมของช่องแคบมะละกาจรดมายังตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ผ่านทั้งการค้า วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของความหลากหลายในอาเซียน