วันนี้ (1 ธันวาคม 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งมอบมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้ประชาชน ที่บริเวณด่านศุลกากรแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย
โอกาสนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวรายงาน การให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า สถาบันการเงินของรัฐได้จัดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน อาทิ มาตรการพักต้น พักดอก การลดดอกเบี้ยตามเกณฑ์สำหรับกลุ่มที่ประสบอุทกภัยและกลุ่มที่ไม่ประสบอุทกภัย ซึ่งเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีแนวโน้มที่ดีรวมทั้งการเติมเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ภาครัฐ ให้เหมือนเช่นเดียวกับสถาบันการเงินภาครัฐ และล่าสุด กรมบัญชีกลาง ได้ปรับวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมเพื่อให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สามารถนำงบประมาณไปช่วยเหลือได้ทั้งการช่วยเหลือประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธาน เพื่อมอบสินเชื่อในโครงการ ดังนี้
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ลูกค้า ผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ)
2. ธนาคารออมสิน (สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ งบประมาณโครงการออมสินสารพัดซ่อม-วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย)
3. ธนาคารกรุงไทย (มาตรการเคียงข้างผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยการ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดชำระหนี้และ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ)
4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (โครงการมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567)
5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) (สินเชื่อเติมทุนฉุกเฉิน ฟื้นฟูกิจการ)
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติ)
7. บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (SMEs ฟื้นฟู - No One Left Behind - ช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัยน้ำท่วม)
8. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Green Development Bank - ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา สู่การค้าโลกและ บริการประกันส่งออก EXIM for Small BIZ)
9. กรมธนารักษ์ (สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงราย) มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย)
10. กระทรวงมหาดไทยมอบเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 15,040,000 บาท ค่าทำความสะอาดดินโคลน และซากวัสดุ ครัวเรือนละ 10,000 บาท จำนวน 1,504 ครัวเรือน
ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณที่ทุกท่านช่วยกันฟื้นคืนพื้นที่อุทกภัยให้กลับมาเป็นปรกติ ได้อย่างรวดเร็ว และดีใจที่ได้มาเห็นบรรยากาศสดชื่น แจ่มใส ในวันนี้และขอขอบคุณ คณะรัฐมนตรี ศปช. และข้าราชการ ทุกภาคส่วนที่ได้ประสานความร่วมมือร่วมใจผลักดัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาให้เร็วที่สุดเช่นเดียวกัน
'สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้ ได้ติดตามสถาณการณ์ตลอดเวลา ได้สั่งการรองรัฐมนตรีและรัฐมนตรีลงพื้นที่ทันที และจะต้องใช้มาตรการช่วยเหลือแบบเดียวกันกับน้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา'
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ภัยน้ำท่วม ถือเป็นภัยที่ประชาชนทั้งประเทศได้รับผลกระทบ ซึ่งประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้า ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลจะเดินหน้าในมาตรการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆปรับตัวดีขึ้นและจะดียิ่งขึ้นต่อไป นายกรัฐมนตรีกล่าว
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินชมบูธ ที่แสดงมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสําคัญในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน รวมถึงเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา จากสถานบันการเงินที่ร่วมโครงการ พร้อม กล่าวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และทักทายประชาชนที่อยู่ภายในงาน ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมที่ และมอบบัตรประจำตัวประชาชน ให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุ ที่ศูนย์ราชการอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย