ไม่พบผลการค้นหา
‘นายกฯ’ ไม่ทราบเรื่องกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ จนถูกวิจารณ์เอื้อ ‘ทักษิณ’ ด้าน รมต.ยุติธรรม แจงเป็นการออกระเบียบตามกฏหมายราชทัณฑ์ ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์ ออกคำสั่งให้สามารถคุมขังนอกเรือนจำ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อแก่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคุมตัวขณะนี้ ว่า ตนไม่ทราบเรื่องเลย และก็เป็นหน้าที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และไม่เกี่ยวกับตน

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบคำถามก่อนเดินขึ้นรถไปรับหนังสือขอบคุณจากผู้เลี้ยงสุกรที่แก้ปัญหาเรื่องหมูเถื่อน บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล

ด้าน ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการออกระเบียบราชทัณฑ์เรื่องการคุมขังนอกสถานที่ ว่าทางกรมราชทัณฑ์มีการประชุมเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทางปลัดกระทรวงฯ ได้ดูแลอยู่ พร้อมยืนยันว่าเป็นการออกระเบียบตามกฏหมายราชทัณฑ์ 

ทวี ยอมรับว่าเป็นปัญหาของเรือนจำ เมื่อนับเรื่องหลักยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ได้รับการประเมินจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยคะแนนด้านหลักยุติธรรม ได้เพียง 0.25 จากคะแนนเต็ม 1 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม หรือกฏหมายราชทัณฑ์ นั่นจึงทำให้คณะกรรมการสิทธิฯ ส่งหนังสือมาถึงรัฐบาลสมัยที่ผ่านมา 

ทวี กล่าวอีกว่าการปฏิบัติทั้งหมดจะไม่ยึดที่ตัวบุคคล แต่อำนาจในการออกกฏกระทรวง ก็จะมีกฏกระทรวงตามมาตรา 89/1 ของ ป.วิอาญา เพราะตอนนี้นักโทษที่อยู่ในเรือนจำ คือนักโทษระวางไปขังอยู่กับนักโทษเด็ดขาด เป็นการส่อขัดรัฐธรรมนูญ 

ในกรณีเรือนจำต้องมีกฎหมายที่ระบุของราชทัณฑ์ไว้ ซึ่งกฎหมายส่วนหนึ่ง ผู้ต้องขังมีสถานที่ควบคุม แต่ทุกคนก็ติดคุกเหมือนเดิมแต่รายละเอียดจะมีคณะกรรมการในการประชุม ซึ่งจะมีตัวแทนทั้งศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

ทวี กล่าวอีกว่า หลังจากมีข่าวได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเข้าไปดูแล โดยปลัดฯ ยืนยันว่า การดำเนินการไม่มีเรื่องตัวบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ดูเรื่องหลักเกณฑ์ เพราะต้องการให้ปฏบัติตามกฎหมายราชทัณฑ์ 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าเงื่อนไขนี้หรือไม่ ทวี ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม และเดินขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที

คปท. ซัด กรมราชทัณฑ์-เตือนรัฐบาลอย่าสร้างรอยแผล

ขณะที่ บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย พิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. พร้อมมวลชน และรถติดเครื่องขยายเสียงพร้อมปราศรัยเรียกร้องให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้นำตัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักโทษชายกลับไปควบคุมตัวที่เรือนจำ หลังจากที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมาเป็นเวลานาน

โดยพิชัย กล่าวว่า เรามาวันนี้เพื่อถามรัฐบาลเพราะ 120 วัน ที่รัฐบาลจะลอยตัวให้ ทักษิณ ไปอยู่ที่โรงพยาบาลไม่ได้อยู่ในเรือนจำ ที่ผ่านมามีแต่ข้ออ้างจนวันนี้ทำให้เห็นว่า ระเบียบใหญ่กว่าคำพิพากษา อีกทั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 กรมราชทัณฑ์ ได้ออกระเบียบการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566​ ซึ่งที่ วัด มัสยิด โรงแรม โรงพยาบาล บ้านพักอาศัย

สามารถเป็นที่ควบคุมผู้ต้องขังได้ นั่นแสดงว่าการออกระเบียบนี้เพื่อเอื้อให้ทักษิณ ซึ่งเป็นการออกระเบียบเพื่อมารองรับนักโทษเพียงคนเดียว วันนี้เรามาถามว่าการออกระเบียบนี้เพื่อเอื้อนักโทษทักษิณใช่หรือไม่ และสรุปแล้วระบบยุติธรรมไทย เอาความถูกต้องไปรับใช้นักโทษเพียงคนเดียวหรือ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

วันนี้ถ้าครอบครัวของทักษิณ ยื่นย้ายทักษิณให้บ้านจันทร์ส่องหล้าเป็นที่ควบคุมผู้ต้องขังได้เชื่อว่าบ้านเมืองวิกฤตแน่ และจะเป็นตราบาปของรัฐบาลนี้ ตราบบาปของครอบครัวตัวเอง อีกทั้งก่อนหน้านี้แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของทักษิณ และเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาระบุเองว่าทักษิณอยู่ในช่วงระยะพักฟื้น นั้นเท่ากับว่าสามารถที่จะย้ายกลับมา รักษาตัวต่อ ที่โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการย้ายกลับมาแต่อย่างใด เรื่องนี้คนที่ต้องรับผิดชอบคงหนีไม่พ้นนายกฯ กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์

พิชัย กล่าวอีกว่า พรุ่งนี้ (13ธ.ค.66) คปท.จะบุกไปยังโรงพยาบาลตำรวจ โดยจะไปถามนายแพทย์ใหญ่เกี่ยวความเห็นแผนการรักษาของทักษิณไปยังกรมราชทัณฑ์หรือยัง หรือถ้ายังไม่เสนอจะดำเนินการอย่างไรด้วยจรรยาบรรณของแพทย์ ขณะที่ วันที่ 14 ธ.ค.66 จะไปถามเรื่องนี้กับรักษาการอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และวันที่ 15 ธ.ค.ไปหาพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถ้าจะคอร์รัปชันแม้แต่เวลาติดคุก คนแบบนี้ยังมีหน้าที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายได้ด้วยหรือ 

พิชิต ระบุถึงพรรคเพื่อไทยจะเอาประเทศอยู่ภายใต้ครอบครัวชินวัตร"ใช่หรือไม่ ซึ่ง แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะมันจะเป็นบาดแผลในอนาคต และหลังจากนี้ คปท.จะเดินตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มเข้ม และพร้อมที่จะร่วมกับเครือข่ายอื่นเดินหน้าไล่รัฐบาลเศรษฐา หากยังขยายแผลความขัดแย้ง

พร้อมเตือนรัฐบาลอย่ามาสร้างรอยแผลททางสังคม และเงื่อนไขทางด้านความยุติธรรม และกฎหมาย ที่จะนำไปสู่ความแตกแยกใหญ่ทางสังคมในอนาคต อย่ามาว่าสังคมไม่ปรองดอง เพราะเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกเอง เมื่อถึงเวลาเราต้องออกมาสู้ เพราะหากไม่ยืนหยัดก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม