ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดูไทม์ไลน์ คสช. ยื้อเวลา - ต่ออายุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 5 คนทั้งที่หมดวาระไปแล้ว ก่อนทิ้งทวนตัดสินคดีล้มล้างการปกครองพรรคอนาคตใหม่ 21 ม.ค.นี้ ด้านนักวิชาการนิติศาสตร์ ชี้อำนาจนำทางการเมืองของ คสช. อ่อนแอ ทำให้ตุลาการจึงมีบทบาทเข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่มีนายนุรักษ์ มาประณีต เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองของพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 ม.ค.นี้

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมีบางคนอยู่ในวาระมาก่อนมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้ว่าตุลาการบางคนจะหมดวาระไปแล้ว แต่ คสช. ก็ใช้อำนาจพิเศษ มาตรา 44 ขยายเวลาเรื่อยมา ก่อนส่งไม้ต่อ ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว. แต่งตั้ง) ดำเนินเรื่องสรรหาตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันต้องสรรหาตุลาการคนใหม่ จำนวน 5 คน

ทว่าสมาชิกวุฒิสภาก็ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ จนทำให้ไม่สามารถได้เห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนใหม่ได้เสียที ส่งผลให้ตุลาการชุดเดิม "คนเก่า คนแก่" ยังมีอำนาจหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ ที่คลอดมาในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดย คสช. อีกเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ เหตุใดผู้มีอำนาจทางการเมือง จึงต้องขยายเวลาตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จนถึงตอนนี้

ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ตั้งข้อสังเกตในงานเสวนา พรรคการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2563 ว่า การที่ยังไม่มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ทั้งที่หมดวาระการทำหน้าที่แล้ว กลับยื้อเวลา เหมือนกับว่า รอให้มีการวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อน

ส่วน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ผมอดคิดไม่ได้ว่าเหตุใดจึงต้องต่อเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยาวนานขนาดนี้ ท่านตรวจสอบคุณสมบัติอย่างไรใช้เวลาถึง 150 วัน 5 เดือนเต็มๆ เท่ากับเฉลี่ยตรวจเดือนละ 1 คนหรือ องค์กรอื่นไม่เห็นตรวจนานขนาดนี้ หากมองปฏิทินดู ทำไมหวยมันลงพอดีกับคดีของพรรคอนาคตใหม่ ตรวจสอบจบปลายเดือน ม.ค คดีของพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ คือวันที่ 21 ม.ค. และหากคดีเงินกู้เร่งตัดสินอีก ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะตัดสินภายในสิ้นเดือน ม.ค. พฤติการณ์แวดล้อมแบบนี้ ก็อดคิดไม่ได้หรอกครับว่า หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ท่านนี้ จะมีภาระกิจทิ้งทวนคือตัดสินคดีพรรคอนาคตใหม่เป็น 2 คดีสุดท้าย ผมขอตั้งคำถามกลับไปดังๆ เพราะชวนให้คิดจริงๆ ว่าการขอขยายถึง 5 เดือนขนาดนี้ถือว่านานเกินไป"

ปิยบุตร 8.jpg

ก่อนตุลาการชุดนี้จะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ทิ้งทวนวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ของพรรคอนาคตใหม่ 'วอยซ์ ออนไลน์' ชวนย้อนดูไทม์ไลน์การยื้อเวลาตั้งตุลาการใหม่ นับตั้งแต่หลัง การรัฐประหารในปี 2557 รวมถึงบทบาทตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาชี้ขาดประเด็นทางการเมือง ภายใต้อำนาจของ คสช.


ปี 2558 ตั้ง นครินทร์-ปัญญา ตุลาการศาล รธน.

ย้อนไปเมื่อ ปี 2558 หลังการรัฐประหารเพียงปีกว่าๆ คสช. ได้ตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นมา 2 คน ภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 ที่กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระดำเนินการตามระบบเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 จนถึงวันที่ 9 ต.ค. 2558 ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบให้ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และเคยเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว

ศ.ดร.นครินทร์ ยังเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 ในยุคของ คสช. ฉบับปี 2558 นอกจากนี้ในปี 2552-2558 ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมา เมื่อ วันที่ 29 ต.ค. 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบให้ นายปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ปัญญาเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และเคยเป็นคณะอนุกรรมาธิการประสานข้อมูลของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558


ปี 2560 งัด ม. 44 ยืดอายุ 5 ตุลาการแทนสรรหาใหม่

ในปี 2559 คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 ได้สั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่งเพื่อรอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ด้วยเหตุที่เดือน พ.ค. 2560 ตุลาการ 5 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และ ศ.จรัญ ภักดีธนากุล จะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งมาจนครบวาระ 9 ปีแล้ว วันที่ 5 เม.ย. 2560 หัวหน้า คสช. จึงงัดมาตรา 44 ออกคำสั่ง ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยขั้นตอนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 23/2560 ก็เขียนไว้คล้ายกับขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ 2550 

แต่สุดท้าย เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 หัวหน้า คสช. ก็กลับลำ ใช้มาตรา 44 อีกครั้งออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูก และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกใช้บังคับ


ปี 2560 สนช.ไม่เซ็ตซีโร่ ศาล รธน. - เพิ่มละเมิดอำนาจศาล - ต่อวีซ่าตุลาการชุดเดิม

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการพิจารณาวาระรับหลักการในการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2560 โดยมีมติเอกฉันท์จากที่ประชุม สนช. ต่อมา เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 สนช. ได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ในวาระที่ 2 และ 3 โดยที่ประชุม สนช. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้วยคะแนน 188 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

กระทั่ง เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการเพิ่มบทบัญญัติ ห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมามีผู้ที่ถูกข้อหาละเมิดอำนาจศาลจากการใช้สิทธิในการวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทว่ากฎหมายลูกที่ออกมานั้น กลับไม่ได้ทำให้ตุลาการที่หมดวาระพ้นไปจากการปฏิบัติหน้าที่ ยังคงปฏิบัติหน้าที่จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ มาตรา 79 กำหนดให้ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในวันก่อนที่ กฎหมาย ฉบับดังกล่าวใช้บังคับ และตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2560 ยังคงให้ 5 ตุลาการ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีตุลาการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (5) จะเข้ารับหน้าที่ และให้เป็นอำนาจคณะกรรมการสรรหาฯ จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าตุลาการทั้ง 5 คนจะต้องมีการคัดเลือกและสรรหาตามประเภทใด โดยที่ สนช. เคยให้คำอธิบายไว้ว่า "การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายใหม่นั้นควรมีขึ้นเมื่อมีสมาชิกรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง เพื่อความสง่างาม"

สำหรับขั้นตอนของการสรรหานั้น กรรมการองค์กรอิสระจะต้องส่งรายชื่อเพื่อเป็นคณะกรรมการสรรหา ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาภายใน 20 วัน นับจากประชุมรัฐสภาครั้งแรก

จากนั้น คณะกรรมการสรรหาจะต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกในประเภทใด ตามมาตรา 8 (1)(2)และ(5) ภายใน 20 วัน ซึ่งก็น่าตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงให้คณะกรรมการสรรหาวินิฉัยเพียงสัดส่วนของศาลฎีกา ศาลปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ แต่ไม่รวมผู้ทรงคุณวุฒิจากรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ด้วย

จากนั้นจึงสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน รวมใช้เวลา 100 วัน ซึ่งหากดำเนินการตามนี้ ก็จะได้ศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย.



ประชุมวุฒิสภา 0120_0006.jpg

5 ตุลาการหมดอายุยังอยู่ต่อหลัง ส.ว. ขยายเวลาสอบประวัติ 4 ครั้ง

แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ตุลาการศาลรับธรรมนูญ 5 คนใหม่ โดย ส.ว. ขยายเวลาถึง 4 ครั้ง ในการประชุมวุฒิสภา 2 ก.ย. 2562 ได้มีมติตั้ง กมธ.สามัญเพื่อตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ประกอบด้วย

1.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 2.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 3.นายจิรนิติ หะวานนท์ 4.นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ และ 5. นายนภดล เทพพิทักษ์ โดยกำหนดเวลาปฏิบัติงานภายใน 45 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติตั้ง กมธ.สามัญ และจะครบกำหนดในวันที่ 16 ต.ค. 2562 

หลังจากนั้นวุฒิสภาได้มีมติให้ขยายเวลาการตรวจสอบอีก คือวันที่ 20 ต.ค. 2562 และวันที่ 3 ธ.ค. 2562 ซึ่งได้ขยายเวลาครั้งละ 30 วัน และจะครบกำหนดในวันที่ 14 ม.ค. 2562 ซึ่งล่าสุดการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 6 ม.ค. 2562 ได้ขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 4 อีก 15 วัน 

โดยอ้างเหตุผลว่า "มีประเด็นสําคัญที่คณะกรรมาธิการสามัญจําเป็นต้อง ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานสําคัญบางประการเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับกํารเสนอชื่อให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"

โดยที่ข้อบังคับข้อที่ 105 วรรคสองกำหนดให้การตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทํางจริยธรรมของบุคคลต้องกระทําให้เสร็จครบทุกรายภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตั้ง กมธ.สามัญ ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จได้ ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว กมธ.อาจขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดระยะเวลา ไว้เป็นอย่างอื่น แต่เนื่องจากการขอขยายเวลาครั้งนี้ เป็นการขอขยายเวลาครั้งที่ 4 ซึ่งเกินกว่าที่ข้อบังคับฯ กําหนดไว้ ดังนั้น ที่ประชุมจึงลงมติให้งดใช้ข้อบังคับ ข้อ 105 วรรคสอง เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณี เพื่อให้ กมธ. ขยายเวลาการพิจารณาครั้งที่ 4 ออกไปอีก 15 วัน

ธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญ _191120_0013.jpg


รวมผลงานศาลรัฐธรรมนูญ หลัง คสช. รัฐประหาร

ในช่วงแรกของการรัฐประหาร อาจจะยังไม่เห็นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญมากนัก กระทั่งในช่วงปี 2559 เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหว ในช่วงที่กำลังมีการออกเสียงลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้นโดย คสช. มีผู้ถูกดำเนินคดีจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เนื่องจากรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่ง เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2559 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2559 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

28 ก.ย. 2559 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามผลการออกเสียงประชามติในคำถามพ่วงเพื่อให้วุฒิสภามีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องมาจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเป็นคนเสนอตามกฎหมายก็ได้

22 ก.พ. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องจากผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขอให้วินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า ต้องใช้สิทธิทางศาลและผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน

9 มี.ค. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องกรณีที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. ว่าขอให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 185 บัญญัติว่าให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามกฎหมาย ป.ป.ช. เดิมนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ขัด

23 พ.ค. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 91,92,93,94,95 และ 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรก มีเนื้อหากำหนดให้การสรรหา ส.ว.มีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัครและกระบวนการเลือก แตกต่างไปจากการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามบททั่วไป ไม่มีข้อความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

30 พ.ค. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนที่บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่มอาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้นไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

5 มิ.ย. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 ที่ไปแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย พรรคการเมือง ที่พรรคการเมืองต้องยืนยันสมาชิกพรรคเดิมภายใน 30 วัน และให้มีสาขาและตัวแทนจังหวัดของพรรคหลัง คสช. ปลดล็อคคำสั่งฯ ว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

29 ส.ค. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ หลัง กกต. ยื่นตรวจสอบกรณีการถือครองหุ้นเกินจำนวนที่กำหนด แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง และเอกสารประกอบแล้ว ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใด กรณียังไม่มีเหตุอันควรสงสัย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าว

7 ก.พ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ เหตุกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการเสนอ 'ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี' อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีที่พรรคเป็นผู้เสนอ

24 เม.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยสูตรคำนวน ส.ส.ปาร์ตี้สิสต์ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้ายการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 โดยระบุเป็นหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง

8 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้ายการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ว่าด้วย กำหนดวิธีคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่าด้วยการคำนวณที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 

23 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีถือครองหุ้นใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ขัดกับกฎหมายหรือไม่ ชี้เป็นเพียงการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง เสนอรายชื่อตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับ

26 มิ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นผ่าน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลถือในหุ้นกิจการสื่อมวลชนไว้พิจารณา โดยมีมติรับคำร้องทั้งสิ้น 32 คนและส่งสำเนาให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีมติให้ ส.ส. กลุ่มนี้หยุดปฎิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวิจฉัย เหมือนกับกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยระบุเหตุผลว่า จะต้องมีเหตุอันควรสงสัย แต่กรณีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเพียงเอกสารประกอบแบบคำร้องเท่านั้น

19 ก.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย กรณีที่ พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร นายปิยบุตร และคณะกรรมการบริหารพรรค ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพีระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากสัญลักษณ์ของพรรคมีความเชื่อมโยงกับองค์กรลับ "อิลลูมินาติ" (Illuminati) ซึ่งนายณฐพร โตประยูร ผู้ร้องระบุว่ามีแนวคิดล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 ม.ค. 2563

27 ส.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ มีความผิดฐานถือหุ้นสัมปทานรัฐเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรณีถือครองหุ้นของบริษัทที่ได้รับสัปทานจากรัฐ ส่วนอดีตรัฐมนตรีในยุค คสช. อีก 3 คน คือ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมช.ศึกษาธิการ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ไม่มีความผิด

11 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำทางการเมือง เป็นเรื่องของรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบในองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ

18 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แม้ว่าศาลฎีกาจะเคยพิพากษาให้การฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานของรัฐ

13 พ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคเพื่อไทย สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(6) จากกรณีต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดขอนแก่นลงโทษประหารชีวิต ในคดีจ้างวานฆ่านายสุชาติ โคตรทุม ปลัด อบจ.ขอนแก่น และให้คุมขังนายนวัธ ไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งโทษประหารชีวิตรุงแรงกว่าจำคุก แม้ศาลจะปรับโทษให้เป็นจำคุกแต่ก็ยังถือว่าผู้ถูกร้องนั้นมีโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลอยู่ดี

คำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลให้มีการจัดเลือกตั้งซ่อมแทนตำแหน่งที่ว่างลงในจังหวัดขอนแก่น เขตเลือกตั้งที่ 7 ท้ายที่สุด นายสมศักดิ์ คุณเงิน ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยชนะนายธนิก มาสีพิทักษ์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย เป็นผลให้พรรคเพื่อไทยเหลือ ส.ส.จำนวน 136 คน ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง รวมมี ส.ส.ทั้งหมด 260 เสียง

20 พ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นสื่อในบริษัทวี - ลัค มีเดีย จำกัด ด้วยมติ 7 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า นายธนาธร ไม่ได้โอนหุ้นดังกล่าวในวันที่ 8 ม.ค. 2562 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันสมัครับเลือกตั้ง และนายธนาธร ในฐานะผู้ถูกร้องยังถือหุ้นสื่อในวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้น สมาชิกภาพของนายธนาธร จึงถือว่าสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญธนาธร สื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ 3898329593151488_o.jpg

ชนชั้นนำคุมสภาไม่อยู่ จึงต้องใช้ศาลชี้ขาดการเมือง

การขยายเวลาตั้งตุลาการใหม่แทนผู้ที่หมดวาระแล้ว รวมถึงการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทสำคัญในการชี้ขาดประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง อาจมองปรากฏการณ์นี้ผ่านกรณีศึกษาของ นักวิชาการชื่อ Ran Hirschl ที่ศึกษากรณีของประเทศแอฟริกาใต้ โดย Ran Hirschl เสนอคำว่า juristocracy หรือหลัก 'ตุลาการธิปไตย' ที่ตุลาการกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เหนือกว่าสถาบันการเมืองอื่น รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวกับ ‘วอยซ์ ออนไลน์‘ ว่า แนวคิดนี้พอจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้พอสมควร

รศ.สมชาย อธิบายว่า ตุลาการธิปไตย เป็นการทำให้องค์กรตุลาการ เข้ามาเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมือง ชัดเจนมากขึ้น เป็นการขยายบทบาทของตุลาการ งานวิชาการช่วงหลังๆ จึงศึกษาบทบาทตุลาการที่ขยับเข้ามาทางการเมือง ซึ่งเกิดจากการที่ "ชนชั้นนำ" ไม่สามารถยึดกุมอำนาจในรัฐสภาได้ จึงมีแนวโน้มที่ใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือ

รศ.สมชาย กล่าวว่า กรณีศึกษาของ Ran Hirschl ในแอฟริกาใต้ ช่วงเวลาที่คนผิวดำยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง คนผิวขาวยังยึดครองรัฐสภาได้ การเมืองยังอยู่ในรัฐสภา แต่เมื่อคนผิวดำมีสิทธิเลือกตั้ง ชนชั้นนำผิวขาวจึงไม่สามารถคุมรัฐสภาได้เหมือนเดิม จึงใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือ

"ผมคิดว่ามันสะท้อนสังคมไทยได้ ถึงอำนาจนำของ คสช. ผมคิดว่า ถ้าอำนาจนำของ คสช. เข้มแข็ง จะไม่หวั่นเกรง แต่ด้วยการที่อำนาจนำของ คสช. อ่อนแอ เลยเกิดความไม่ไว้ใจ"

รศ.สมชาย กล่าวต่อว่า เมื่ออำนาจนำของ คสช. อ่อนแอ เลยไม่ไว้ใจ หากมีการตั้งตุลาการใหม่ขึ้นมา แม้จะเป็นคนที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การขยายอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

อย่างไรก็ดี รศ.สมชาย อธิบายว่า การที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองยืมมือตุลาการเพื่อชี้ขาดทางการเมือง ไม่ได้เป็นการชี้นิ้วสั่ง หากแต่เพราะศาลก็เป็นสถาบันที่มีอุดมการณ์ จุดยืน ผลประโยชน์ร่วมกัน เป็น "เครือข่าย" ปกป้องอำนาจนำ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่มีร่วมกัน

สำหรับการวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองของพรรคอนาคตใหม่ ที่จะเป็นการชี้ขาดทางการเมืองครั้งสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ที่เคยได้ ส.ส.ถึง 81 ที่นั่งในสภาฯ เป็นพรรคการเมืองขั้วใหญ่อันดับ 3 ในสภา ในวันที่ 21 ม.ค. นี้

รศ.สมชาย วิเคราะห์ว่า เท่าที่ดูจากทิศทางที่ผ่านมา ต่อให้พรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกลงโทษ ในครั้งนี้ เดี๋ยวก็จะมีคดีอื่น ตราบเท่าที่ องค์กรตุลาการมีโครงสร้างภายใต้อำนาจของ คสช.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง