นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า การที่สหรัฐประกาศตัดสิทธิ์ GSP ของไทยครั้งนี้ จะมีผลต่อการส่งออกของประเทศไทยอย่างไรหลายฝ่ายยังให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันนัก แต่ที่ดูน่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือท่าทีที่สับสนของบุคคลในรัฐบาลที่สะท้อนความไร้ทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรี บอกว่าเรื่องแรงงานก็คงต้องไปดูกันและถ้ามีโอกาสพบปะกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการประชุมระหว่างประเทศก็จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ แต่จากข่าวล่าสุดการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
ขณะที่รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่าประเทศไทยควรจะภูมิใจที่พ้นจากการเป็นประเทศที่จะได้รับจีเอสพีแล้ว เหมือนกับจะส่งสัญญาณว่าเรื่องนี้ปล่อยให้เลยตามเลยไป ไม่ต้องไปให้ความสนใจอะไรอีก
ส่วน ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ออกมาปิดประตูสำหรับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของแรงงานซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นปัญหาที่นำมาสู่การตดสิทธิ์จีเอสพีโดยตรงเสียด้วย เท่ากับประกาศว่าประเทศไทยจะไม่ทำอะไรอีกแล้วในเรื่องนี้
เมื่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาลไทยมีท่าทีเช่นนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้าคงไม่พ้นไปจากการถูกตัดสิทธิจีเอสพีซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาการส่งออกของไทยที่ตกต่ำมากเป็นประวัติการณ์อยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก นอกจากนั้นก็อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศในส่วนที่คาดหวังมาอาศัยสิทธิ์จีเอสพีของไทยอีกทางหนึ่งด้วย
ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อเรื่องการถูกตัดสิทธิจีเอสพีนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป การปลุกปลอบใจว่าสังคมไทยควรภูมิใจที่พ้นจากการเป็นผู้รับสิทธิจีเอสพี เพราะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีแล้วนั้นเป็นการพูดแบบแก้เกี้ยวเพียงเพื่อให้พันจากการถูกตำหนิว่าควรจะแก้ปัญหานี้มานานแล้วทำไมไม่แก้ ส่วนการยืนยันว่าประเทศไทยไม่ค่อยมีเสรีภาพอยู่แล้ว และไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรก็จะทำให้ประเไทยหยุดนิ่งอยู่กับที่มากกว่าที่เกิดการปรับปรุงให้แข่งขันได้ดีขึ้น
ที่น่าเป็นห่วงคือการที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดกระแสโกรธแค้นมิตรประเทศโดยไม่อยู่กับเหตุผลและข้อเท็จจริงซึ่งหากกระแสนี้ลุกลามบานปลายต่อไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยซึ่งจำเป็นต้องคบค้าสมาคมกับประเทศต่างๆ ให้มากที่สุด และกำลังอยู่ในสภาวะที่ต้องรักษาความสมดุลในความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง