ไม่พบผลการค้นหา
สื่อเคนยาวิเคราะห์ปัจจัยที่กลุ่มก่อการร้ายอัล-ชาบับ เลือกโจมตีโรงแรม 'ดุสิตดีทู' ในกรุงไนโรบี เป็นเป้าก่อการร้าย ทั้งทำเลที่ตั้งใกล้สถานทูต ทางเข้าออกแบบวันเวย์ รวมถึงปัจจัยเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ

โรงแรมดุสิต ดีทู ในกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนยา เป็นกิจการที่เกี่ยวโยงกับนักลงทุนไทย และตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายอัล-ชาบับ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับเวลา 19.00 น.ตามเวลาไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 21 ราย และสูญหายอีก 14 ราย แต่พนักงานคนไทยที่อยู่ภายในโรงแรมขณะเกิดเหตุสามารถหลบหนีได้ทันเวลา

ภายหลังจากเกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวในประเทศไทยได้สอบถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีโรงแรมในเครือดุสิตธานีตกเป็นเป้าโจมตี และ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า "คนไทยไม่ตายก็โอเคแล้ว กระทรวงต่างประเทศกำลังติดตามอยู่" ส่วนแรงจูงใจในการก่อเหตุกับโรงแรมในเครือของประเทศไทย พล.อ.ประวิตร ตอบว่า "ไม่รู้ดิ คงเห็นอาหารอร่อยมั้ง" 


โรงแรมมีอาหารอร่อยให้บริการ แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ตกเป็นเป้าโจมตี

เว็บไซต์เดอะเดลี่เนชั่น สื่อสายเสรีนิยมของเคนยา รายงานสาเหตุที่กลุ่มอัล-ชาบับเลือกโรงแรมดุสิต ดีทู เป็นเป้าโจมตี เกิดจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เพราะเป็นการพุ่งเป้าโจมตีแบบหวังผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองและการข่มขวัญรัฐบาลเคนยา รวมถึงรัฐบาลต่างประเทศที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับเคนยา

d202.jpg
  • โรงแรมดุสิต ดีทู ถูกยิงโจมตีเมื่อ 15 ม.ค. 2562

ปีเตอร์ เลฟตี้ คอลัมนิสต์ของเดลี่เนชั่น ระบุว่า โรงแรมดุสิต ดีทู เผยแพร่คำบรรยายกิจการของตนในเว็บไซต์ ว่าเป็นโรงแรมที่ขึ้นชื่อด้านสถาปัตยกรรมเก่าแก่สวยงามที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ อยู่ไม่ไกลจากย่านใจกลางเมือง ทั้งยังเต็มไปด้วยบริการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารขึ้นชื่อระดับโลกจากภัตตาคารและบาร์ต่างๆ รวมถึงสปา สระว่ายน้ำ และห้องพักหรูหรากว้างขวาง แต่เหตุผลหลักที่ดุสิต ดีทู ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มอัล-ชาบับ เป็นผลจาก ทำเลที่ตั้ง, การออกแบบทางเข้า-ออก และความเชื่อมโยงทางสัญลักษณ์ของโลกตะวันตก

ทำเลที่ตั้งใจกลางเมือง ใกล้สถานทูต-บริษัทข้ามชาติ

โรงแรมดุสิต ดีทู ตั้งอยู่ที่ 14 ริเวอร์ไซด์ กรุงไนโรบี อยู่ห่างจากย่านใจกลางเมืองโดยใช้เวลาขับรถยนต์ประมาณ 15 นาทีเท่านั้น และในละแวกใกล้เคียงยังมีสถานเอกอัครราชทูตของประเทศออสเตรเลีย, เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ทำให้โรงแรมแห่งนี้มีแขกชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และในวันเกิดเหตุมีผู้เข้าไปใช้บริการและพนักงานรวมกว่า 700 คน และในบริเวณดังกล่าวยังเป็นที่ทำการของบริษัทข้ามชาติ ทั้งคอลเกต ปาล์มโอลีฟ และดาวเคมิคัล ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มทุน

อับดุลลาฮี อับดีล นักวิจัยจากองค์กรด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ 'อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป' หรือ ICG ระบุว่า สถานทูตของประเทศตะวันตกทั้ง 3 แห่งควรแจ้งให้ทางโรงแรมทราบว่า ทำเลที่ตั้งดังกล่าวนั้นเข้าข่ายพื้นที่เสี่ยงต่อการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายมากที่สุด เพราะการโจมตีกิจการโรงแรมที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติ ทั้งยังอยู่ในย่านเดียวกับสถานทูตของประเทศที่มีอิทธิพลระดับโลก จะเป็นการเรียกร้องความสนใจจากสื่อต่างประเทศได้มากที่สุด 

ทางเข้าออกแบบวันเวย์ ทำให้กลุ่มก่อเหตุบุกยึดได้ง่าย

บทความของเดลี่เนชั่นมองว่า การออกแบบเส้นทางเข้าออกโรงแรมแบบวันเวย์ ทำให้กลุ่มก่อการร้ายบุกยึดทางเข้าออกเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีคนเข้าออกได้ง่าย เหมือนที่ตั้งอยู่ในมุมอับ แต่กรณีนี้ถูกโต้แย้งโดย 'เวนดา บิจิเว' ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเคนยา ซึ่งระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิต 21 ราย กับผู้อยู่ในโรงแรมที่หน่วยเฉพาะกิจและตำรวจเคนยาช่วยเหลือออกมาได้กว่า 700 คน เป็นสัดส่วนที่ต่างกันมาก ในทัศนะของเขาจึงมองว่าการก่อการร้ายของกลุ่มอัล-ชาบับครั้งนี้ถือว่า 'ล้มเหลว' มากกว่าจะประสบความสำเร็จ 

000_1CA8V7.jpg
  • ผู้อาศัยในกรุงไนโรบีพร้อมใจกันบริจาคเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในเหตุก่อการร้ายที่ดุสิตดีทู

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์เดอะสแตนดาร์ดมีเดีย สื่ออีกรายหนึ่งของเคนยา วิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศ ทั้งอัลจาซีรา, บีบีซี, วอชิงตันโพสต์ หรือเอพี ซึ่งรายงานข่าวโดยอ้างอิงข้อมูลที่กลุ่มอัล-ชาบับเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีการรายงานออกไปในช่วงแรกว่านักรบของอัล-ชาบับสังหารผู้อยู่ในโรงแรมไปแล้วกว่า 47 ราย ก่อนที่ตัวเลขจะลดเหลือ 21 ราย

สแตนดาร์ดมีเดียระบุว่า สื่อต่างประเทศกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสของกลุ่มการร้ายโดยไม่รู้ตัว มีเพียงสำนักข่าวรอยเตอร์ เป็นสื่อต่างประเทศรายเดียวที่สอบถามข้อมูลผู้เสียชีวิตและรายงานสถานการณ์จากการยืนยันของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่เกิดการรายงานที่คาดเคลื่อน

โจมตีเชิงสัญลักษณ์-ตรงกับเหตุก่อการร้ายในอดีต

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2559 เป็นวันที่กลุ่มอัล-ชาบับในโซมาเลีย ประเทศเพื่อนบ้านของเคนยา นำกำลังโจมตีและบุกยึดที่มั่นของกองกำลังทหารแห่งประเทศสหภาพแอฟริกาในเมืองเอลลัดด์ของโซมาเลีย หรือ AMISOM ได้สำเร็จ และทำให้ทหารของ AMISOM เสียชีวิตนับร้อยนาย แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น กลุ่มอัล-ชาบับ ก็ไม่บรรลุเป้าหมายในการก่อเหตุโจมตีเพื่อสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังประชาคมโลกได้ในระดับเท่าเทียมกัน การกำหนดวันก่อเหตุครั้งใหม่ให้ตรงกับวันที่ 15 ม.ค. 2562 จึงถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะประกาศแสนยานุภาพรอบใหม่ของกลุ่มอัล-ชาบับ เพราะตรงกับวันครบรอบ 3 ปีเหตุการณ์บุกยึดที่มั่นของ AMISOM 


กลุ่มอัล-ชาบับ คือใคร?

แม้จะก่อเหตุในเคนยา แต่ที่จริงแล้วกลุ่มอัล-ชาบับ ถือกำเนิดขึ้นในประเทศโซมาเลีย มีชื่อเต็มว่า 'ฮารากัต อัล-ชาบับ อัล-มูจาฮีดีน' หมายถึง 'ขบวนการนักต่อสู้รุ่นใหม่' ซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวในช่วงที่โซมาเลียเกิดสงครามกลางเมือง ชนเผ่าต่างๆ ต่อสู้กันเองนานหลายปี และสมาชิกของกลุ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนมีนักรบที่เป็นแกนหลักประมาณ 5,000 คน ทำให้สามารถปราบชนเผ่าต่างๆ จนคุมพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของโซมาเลียได้สำเร็จในปี 2552 

000_Par7769692.jpg
  • เหตุการณ์จับประกันและกราดยิงที่ห้างเวสต์เกตเมื่อปี 2556 ทำให้โลกตระหนักถึงภัยคุกคามจากอัล-ชาบับ

พื้นที่ใต้ความควบคุมของกลุ่มอัล-ชาบับ มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 5 ล้านคนจากจำนวนประชากรโซมาเลียทั้งหมดราว 10 ล้านคน โดยนักรบของกลุ่มอัล-ชาบับนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ทั้งยังเป็นพันธมิตรของกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งก็นับถือนิกายซุนนีเช่นกัน

อัล-ชาบับก่อเหตุโจมตีทั้งชาวมุสลิมนิกายอื่น โดยเฉพาะนิกายซูฟี และคนนอกศาสนาอิสลามมาแล้วหลายครั้ง ทั้งยังปกครองพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโซมาเลียด้วยแนวทางอำนาจนิยม ใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง แต่ชาวโซมาเลียจำนวนมากยังคงยอมรับกลุ่มอัล-ชาบับ เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นผู้ช่วยหยุดยั้งสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มชนเผ่าเล็กๆ ที่มีมากกว่า 100 กลุ่มได้

ประชาคมโลกตระหนักถึงภัยคุกคามของกลุ่มอัล-ชาบับครั้งแรกจากเหตุการณ์บุกจับตัวประกันและโจมตีห้างสรรพสินค้าหรู 'เวสต์เกต' ในกรุงไนโรบีของเคนยา ซึ่งเป็นการก่อเหตุโจมตีนอกโซมาเลียครั้งแรกเมื่อปี 2556 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 63 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ รวมถึงชาวอิสราเอล อังกฤษ และสหรัฐฯ

กลุ่มอัล-ชาบับประกาศเหตุผลในการบุกโจมตีเคนยา เป็นเพราะต้องการแก้แค้นที่เคนยาและประเทศสมาชิกสหภาพแอฟริกาอื่นๆ ที่ร่วมกันส่งกำลังทหารเข้าไปปราบปรามกลุ่มอัล-ชาบับ โดยอ้างว่าเป็นการกำจัดกลุ่มก่อการร้าย และโซมาเลียมีพรมแดนทางใต้ติดกับเคนยา จึงเป็นเป้าหมายที่อยู่ใกล้ที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มอัล-ชาบับ ยังมีแนวร่วมในอีกหลายประเทศทั่วโลก เชื่อมโยงกับกลุ่มมุสลิมที่ใช้กำลังอาวุธต่อสู้โดยอ้างอุดมการณ์ว่าทำเพื่อศาสนาอิสลาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง