ภายหลังการประชุมผู้บริหารกทม. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้ออกคำสั่ง กทม. ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เป็นระบบดิจิทัล โดยให้มีการทำแผนใน 30 วัน แล้วก็ให้ดำเนินการในรายละเอียดภายใน 90 วัน เป็นแนวคิดว่ากทม.เดินหน้าแน่กับเรื่องการทำข้อมูลเปิด หรือ Open Data ให้ประชาชนได้รับทราบ และคาดหวังว่าการใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆจะเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ในรายละเอียดของคำสั่งดังกล่าวมีดังนี้
คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1564/2565 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลกรุงเทพมหานครเพื่อการเข้าถึงโดยระบบดิจิทัล
ด้วยพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำระบบบูรณาการข้อมูลดิจิทัลระหว่างกันและจัดทำข้อมูลเปิด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถนำไปเผยแพร่ ใช้ประโยชน์ หรือ พัฒนาบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสและเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน อันเป็นการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงมีคำสั่งให้ทุกหน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เรื่อง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐของกรุงเทพมหานคร่ ส่วนที่ 1 โดยการจัดทำข้อมูลของกรุงเทพมหานครในฐานะทรัพย์สิน เพื่อการเปิดเผยข้อมูลเปิดของกรุงเทพมหานคร ต้องสอดคล้องกับนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมความโปร่งใส การใช้ประโยชน์จากข้อมูล และการบูรณาการข้อมูลระหว่างกรุงเทพมหานครกับหน่วยงานของรัฐอื่น และระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคเอกชน และประชาชน ทั้งนี้ นโยบายข้อมูลเปิดต้องได้รับการปรับปรุงตามความจำเป็น
2. ปฏิบัติตามข้อกำหนดของนโยบายข้อมูลเปิด (Open Data Policy) ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยคำนึงถึงกฎหมาย นโยบาย ความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับ ความมั่นคงของชาติ และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทุกด้าน
3. ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของกรุงเทพมหานคร (Ministry Chief Information Officer : MCIO) และผู้บริหารทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงประจำหน่วยงาน (Department Chief Information Officer : DCIO) ต้องรวบรวมและเผยแพร่เครื่องมือทางดิจิทัลและแนวปฏิบัติที่ดี ภายใน 30 วัน นับถัดจากวันออกคำสั่งนี้ เพื่อช่วยให้หน่วยงานสามารถบูรณาการนโยบายนี้ไปสู่การปฏิบัติเพื่อส่งเสริมพันธกิจของกรุงเทพมหานครต่อไปได้ ทั้งนี้ ต้องปรับปรุงแหล่งรวบรวมเครื่องมือทางดิจิทัลและแนวปฏิบัติให้ทันสมัยอยู่ประจำ
4. สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สำนักการคลัง และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ต้องร่วมดำเนินการ กำหนดมาตรการในการสนับสนุนการบูรณาการข้อกำหนดนโยบายข้อมูลเปิด ซึ่งรวมไปถึงการเปิดผยข้อมูลรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดเก็บรายได้ของกรุงเทพมหานคร ภายใน 90 วันนับถัดจากวันออกคำสั่งนี้ โดยอาจพัฒนาเป็นต้นแบบเอกสารหรือเครื่องมือในการปฏิบัติงานเพื่อการบริหารจัดการของหน่วยงาน
5. ให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐของกรุงเทพมหานคร กำหนดเป้าหมายการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้แล้วเสร็จ และนำเสนอผู้บริหารของกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณา รวมทั้งร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ที่ท้าทาย และแนวทางการติดตามความก้าวหน้าของหน่วยงาน ตามค่าเป้าหมาย ภายใน 90 วันนับถัดจากวันออกคำสั่งนี้ เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบายข้อมูลเปิด
6. ให้ทุกหน่วยงานรายงานผลการดำเนินการตามข้อ 1-2 และข้อ 4 ภายใน 180 วัน นับถัดจากวันออกคำสั่งนี้ และรายงานผลการดำเนินการ ตามค่าเป้าหมายและตัวชี้วัด ตามข้อ 5 ทุก 90 วัน ให้คณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐของกรุงเทพมหานครทราบ