รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ส กล่าวว่า ‘ลาว’ กำลังประสบกับปัญหาการจ่ายหนี้ที่เกิดจากโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับจีน โดยอ้างอิงการรายงานของซินหัว สื่อจีนที่ระบุว่า จีนและลาวได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งมอบอำนาจให้บริษัทไชน่าเซาเทิร์นเพาเวอร์ของจีนมีอำนาจถือครองหุ้นของบริษัทการไฟฟ้าลาว (EDL) ที่เป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ
ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า จะมีการตั้งบริษัทใหม่ คือ Electricite du Laos Transmission Company Limited (EDLT) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทการไฟฟ้าลาวและบริษัทไชน่าเซาเทิร์นเพาเวอร์ของจีน โดยฝ่ายจีนจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง บริหาร รวมถึงจัดการเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนในลาวไปขายให้แก่ประเทศอื่นๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สย้ำว่า ตัวแทนลาวและจีนไม่ตอบคำถามว่าใครคือผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทใหม่ แต่ระบุเพียงว่า รัฐบาลลาวจะเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าว โดยอาศัยคอนเน็กชันและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจีน เพื่อบริหารจัดการให้บริษัท EDLT มีผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น
ส่วนรายงานของสื่อลาวระบุว่า บริษัท EDLT จะลงทุน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ในระบบการเชื่อมต่อขนส่งไฟฟ้าในท้องถิ่นและการส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ
หนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับการลงนามรายหนึ่งกล่าวว่า วิธีการดังกล่าวจะทำให้ลาวมีอำนาจในการต่อรองเรื่องพลังงานในภูมิภาค และทำให้ลาวเริ่มทำกำไรจากการลงทุนด้านพลังงาน
ด้านสถานทูตลาวในจีนกล่าวว่า ลาวจะโยกย้ายทรัพย์สินให้แก่บริษัทใหม่ของจีน แต่ลาวสามารถซื้อหุ้นคืนได้ในช่วงระยะเวลาดำเนินการ
‘ลาว’ วางยุทธศาสตร์ประเทศเป็น ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’ โดยการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าของลาวและเป็นหนึ่งในผู้ที่ปล่อยกู้เงินให้กับรัฐบาลลาวในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ รวมถึงโครงการรถไฟลาว-จีน
การทูตกับดักหนี้ของจีน
ศูนย์การพัฒนาระดับโลกของสหรัฐอเมริกา เตือนว่า 23 จาก 68 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจากจีนมีความเสี่ยงที่จะติดกับดักหนี้จีนโดยเฉพาะ ลาว จิบูตี คีร์กิสถาน มองโกเลีย มอนเตเนโกร มัลดีฟส์ ปากีสถาน และ ทาจิกิสถาน
เมื่อเดือน มิ.ย. ธนาคารโลกประเมินว่าหนี้สาธารณะของลาวจะพุ่งขึ้นไปถึง 68% ของ GDP ประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่า ลาวมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ในระดับสูงให้แก่ประเทศเจ้าหนี้ทั้งหลาย
ขณะที่ในปีนี้ลาวมีภาระที่ต้องชำระหนี้ที่กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์และพันธบัตรไทยเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองต่างประเทศของลาวเหลือเพียง 864 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 25,920 ล้านบาท
สำหรับผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ของลาวนั้น คือ จีน โดยรัฐบาลลาวได้เงินลงทุนในโครงการต่างๆทั้งการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศจากจีนตามนโยบายการทูตในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
ปี 2556 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ประกาศยุทธศาสตร์โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมและการขนส่งทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้ลงทุนในการพัฒนาระบบคมนาคมดังกล่าวผ่านประเทศต่างๆในรูปแบบการกู้ยืมเงินในการลงทุนกับรัฐบาลจีน และจ่ายเงินคืนให้กับรัฐบาลจีนในภายหลัง
'โตชิโร นิชิซาวา' ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่น ผู้เป็นที่ปรึกษาด้านเสถียรภาพทางการเงินของรัฐบาลลาวกล่าวว่า เศรษฐกิจลาวกำลังพึ่งพาจีนมากขึ้นและนี่คือสิ่งที่ลาวหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การลงนามข้อตกลงเรื่องการซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ระหว่างลาวกับจีนนี้ อาจทำให้จีนเลื่อนการชำระหนี้คืนของลาวออกไป
การกระทำดังกล่าวของจีนในรูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก โดยเมื่อปี 2560 หน่วยงานคลังสมองของอินเดียออกมาเตือนเกี่ยวกับการทูตแบบกับดักหนี้ของจีน หลังจากที่ศรีลังกาได้ลงนามยกท่าเรือฮัมบันโตตาให้กับบริษัทจีนเช่าระยะยาวเป็นเวลา 99 ปี เพื่อแลกกับการลดภาระจ่ายหนี้ให้กับจีนเช่นกัน
ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาก็กำลังเจรจาต่อรองกับจีนเพื่อยิดขยายเวลาชำระหนี้ออกไปเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศเอธิโอเปียที่กู้ยืมเงินจากจีนมาก่อสร้างเส้นทางรถไฟขนส่งสายแอดดิส อบาบา - จิบูตี ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ที่มา Reuters / Japan Times