ไม่พบผลการค้นหา
ไอซ์แลนด์ทำคะแนนสูงสุด คว้าแชมป์ประเทศที่มีเสรีภาพอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก ไทยได้เพียง 36 จาก 100 คะแนน ยังคงถูกจัดว่า 'ไม่เป็นเสรี' คะแนนรวมทั้งโลกนับว่าตกต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

Freedom House องค์กรวิชาการอิสระในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ เผยผลการสำรวจเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกประจำปี 2564 ซึ่งพบว่าเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตของสหรัฐฯ เพียงชาติเดียวลดต่ำลงติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ขณะที่เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของทั้งโลกนั้นตกต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

เมื่อแบ่งตามเกณฑ์ภายในและภายนอกสหรัฐฯ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯ ตกต่ำคือการขาดกฎหมายรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและเกิดการแพร่กระจายของข่าวที่ถูกบิดเบือน และเมื่อประเมินสถานการณ์จากทั่วโลกพบว่ามีสาเหตุมาจากมาตรการอันเข้มงวดของบรรดารัฐบาลเผด็จการ ที่เดินหน้าจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ในปีนี้ 'ไอซ์แลนด์' ยังครองแชมป์การเป็นประเทศที่สามารถ "ปกป้องเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน" ได้ดีที่สุดในโลก ด้วยคะแนน 96/100 จัดอยู่ในประเภท 'สีเขียว' ซึ่งหมายถึง 'เสรี' ผู้คนในไอซ์แลนด์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตกันแทบจะเป็นแบบ 'Universal' อย่างทั่วถึง ข้อจำกัดด้านคอนเทนต์ออนไลน์ก็มีเพียงเล็กน้อย และมีการปกป้องสิทธิบนโลกออนไลน์ที่สูงมาก ตามแบบฉบับของการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดในโลก


พัฒนาการของไอซ์แลนด์ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2563 - 31 พ.ค. 2564
  • คณะทำงานด้านโควิด-19 ของรัฐบาลไอซ์แลนด์พบว่าประชาชนมีการรับข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดที่มีความบิดเบือนผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่คนในประเทศเลือกที่จะเชื่อข่าวสารที่มาจากสำนักข่าวของภาครัฐ และเว็บไซต์หลักของรัฐบาล
  • รัฐบาลเลือกที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชน ด้วยการอัปเดตแอปพลิเคชันติดตามตัวแบบสมัครใจสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา ให้สามารถใช้งานการติดตามด้วย 'บลูธูท' ในการระบุพิกัดของตัวบุคคล ลดความเสี่ยงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
  • เว็บไซต์ของสื่อและหน่วยงานของภาครัฐไม่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเนื่องกันยาวนานหลายปี

'จีน' คือประเทศที่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีเสรีภาพในการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่ำที่สุดจากทั้งหมด 70 ประเทศที่ทำการสำรวจ

ส่วน 'ไทย' ได้คะแนนเพียง 36 จาก 100 คะแนน ถูกจัดให้อยู่ในประเภท 'ไม่เสรี' เป็นคะแนนที่สูงขึ้นจากปี 2560 เพียงแค่ 3 คะแนนเท่านั้น ซึ่ง Freedom House เล็งเห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยถูกจำกัดเสรีภาพอย่างชัดเจน นับตั้งแต่การออกมาลงถนนประท้วงของคนรุ่นใหม่เมื่อช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา มีการจัดการกับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้เครื่องมือแบบอำนาจนิยมในการรับมือกับประชาชน และมีการควบคุมเสรีภาพสื่ออย่างชัดเจน