ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะสามารถมอบโอกาสในการเติบโตอย่างแข็งแรงและมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับอนาคตของเด็กได้

รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยูนิเซฟ และคณะกรรมาธิการ Lancet จัดอันดับ 180 ประเทศเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เด็กจะเติบโตอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยพิจารณาทั้งด้านการศึกษา โภชนาการ การเสียชีวิตในเด็ก รวมถึงระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่หากเทียบการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหัวของประชากร บุรุนดี ชาด และโซมาเลียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด ขณะที่สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และซาอุดีอาระเบียอยู๋ในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก

รายงานนี้ระบุว่า ประเทศที่สามารถทำตามเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 และสามารถดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กได้ดี ได้แก่ อัลบาเนีย อาร์เมเนีย เกรนาดา จอร์แดน โมลโดวา ศรีลังกา ตูนิเซีย อุรุกวัย และเวียดนาม

อาวา โคล-เซ็ก รัฐมนตรีจากเซเนกัล ซึ่งเป็นประธานร่วมในคณะกรรมาธิการกล่าวว่า คนมากกว่า 2,000 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่การพัฒนาหยุดชะงักเพราะมีวิกฤตด้านมนุษยธรรม ความขัดแย้ง ภัยธรรมชาติ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยประเทศยากจนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยสุด กลับเสี่ยงได้รับผลกระทบการสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กมากกว่า 40 คนเตือนว่า ความก้าวหน้าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจหายไป หากรัฐบาลทั่วโลกไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ต้องยกเครื่องวิธีการดูแลสุขภาพของเด็กและเยาวชน เพื่อปกป้องโลกที่พวกเขาจะอยู่ในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียสภายในปี 2643 (ค.ศ.2100) จะส่งผลกระทบด้านสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อคนรุ่นใหม่ ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คลื่นความร้อน การขาดสารอาหารร้ายแรง และโรคระบาดจะเพิ่มขึ้น เช่น มาลาเรีย

ด้านเฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า เด็กทุกคนทั่วโลกกำลังเผชิญภัยคุกคามในการดำเนินชีวิต ทั้งจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงความกดดันทางการค้า และโฆษณาที่ส่งเสริมการบริโภคฟาสต์ฟู้ดและการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชน

รายงานนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การตลาดสำหรับสินค้าหลายชนิดเป็นภัยคุกคามเด็ก โดยเด็กได้ดูโฆษณาบนโทรทัศน์มากถึง 30,000 ตัวต่อปี รวมถึงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล อาหารขยะ และเครื่องดื่มที่เป็นไปด้วยน้ำตาล โดยเด็กดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงในปี 2518 (ค.ศ.1975) มีประมาณ 11 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาเป็น 124 ล้านคนในปี 2559 (ค.ศ.2016) คิดเป็น 11 เท่า

ศาสตราจารย์แอนโธนี คอสเตลโล อาจารย์ด้านสาธารณสุจและความยั่งโลกทั่วโลกจากมหาวิยาลัยคอลเลจลอนดอนเตือนว่า การใช้โซเชียลมีเดียของเด็กและเยาวชนที่มากขึ้น ทำให้เด็กมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยมีการประเมินว่า เด็กและผู้ใหญ่เกือบ 2,300 ล้านคนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และเด็กมากกว่า 150 ล้านคนหยุดการเจริญเติบโต

รายงานนี้ยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงถึงเด็กเป็นหลัก เช่น ยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะมีอนาคตบนโลกนี้ ให้เด็กและเยาวชนเป็นหลักในการคิดถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืน หานโยบายใหม่และการลงทุนในทุกอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพและสิทธิเด็ก รวบรวมความคิดเห็นของเด็กในการตัดสินใจด้านนโยบาย รวมถึงออกมาตรการเข้มงวดในการทำการตลาดและโฆษณา โดยยึดตามพิธีสารตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ที่มา : BBC, The Guardian