ช่วงต้นปี 2563 เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนเข้าปกคลุมทั่วประเทศจนหลายพื้นที่ของไทยประสบภาวะอากาศร้อนจัด ตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา อุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส เกิดขึ้นหลายครั้งในหลายจังหวัด อาทิ วันที่ 1 เม.ย. ที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อุณหภูมิ 42.0 องศาเซลเซียส หรือ วันที่ 6 พ.ค. ที่ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู วัดอุณหภูมิได้สูงถึง 42.8 องศาเซลเซียส
สภาพอากาศข้างต้นเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนในเดือนเหล่านี้ จึงแพงกว่าปกติ ทว่าช่วงเวลาดังกล่าว ไทยเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว เมื่อมองภาพรวมปริมาณความต้องการไฟฟ้าของประเทศจึงตกลงอย่างชัดเจน เนื่องจากบริษัทห้างร้านปิดตัวลงชั่วคราว ขณะที่ประชาชนก็มีความระแวดระวังในการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะต้องการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
เงื่อนไขทั้งหมดนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เหตุใดเมื่อประชาชนใช้ไฟฟ้าน้อยลง ค่าไฟฟ้ากลับแพงขึ้น
'คมกฤช ตันตระวาณิชย์' เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก เผยว่า โครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ อัตราค่าไฟฟ้าฐาน และ อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)
แต่เนื่องจากอัตราค่าไฟฐานมีรอบการทบทวนทุก 3-5 ปี ซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บคงตัวที่ 3.76 บาท/หน่วย ตัวแปรสำคัญของค่าไฟฟ้าจึงไปตกอยู่กับฝั่ง Ft ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยแวดล้อม
เมื่อลงไปดูองค์ประกอบ Ft ซึ่งเกิดจาก ค่าเชื้อเพลิงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเข้ามาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ค่านำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศโดยตรง และ ค่าใช้จ่ายตามนโยบายต่างๆ ของรัฐ ตัวแปรที่เข้ามากระทบค่าไฟใหญ่ๆ จึงประกอบไปด้วย ราคาน้ำมันดิบดูไบ อัตราแลกเปลี่ยน และปริมาณความต้องการไฟฟ้า
ตามการคำนวณราคาน้ำมันดิบดูไบเทียบ Ft พบว่า หากราคาน้ำมันฯ เพิ่มขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ค่า Ft จะปรับสูงขึ้น 0.5 สตางค์/หน่วย ซึ่งในประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนนี้ โฆษก กกพ.ชี้ว่า เมื่อศึกษาข้อมูลจากประมาณการ Ft ระหว่าง พ.ค.-ส.ค. 2561 พบว่า หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ค่า Ft จะลดลง 3.69 สตางค์/หน่วย ในทางตรงกันข้าม หากเงินบาทอ่อนค่าลง 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ค่า Ft จะสูงขึ้น 4.06 บาท/หน่วย
ในห้วงเวลาดังกล่าว ข้อมูลจาก oilprice.com พบว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ จากซื้อขายที่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ใน ม.ค. 2563 ลดต่ำมาถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ช่วง เม.ย.-พ.ค. คิดเป็นการลดลงเกือบ 70% ขณะเงินบาทในช่วงดังกล่าว (ณ ต้นเดือน เม.ย.) อ่อนค่ามาอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนค่อยๆ ขยับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และเข้าแตะ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปลาย เดือน พ.ค.
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น ค่าไฟของคนไทยควรถูกลงในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อค่าไฟฐานเท่าเดิมและแนวโน้มค่า Ft ถูกลง ทว่าค่าไฟของคนไทยในช่วงนั้นกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากหน่วยการใช้ไฟหรือปริมาณการใช้ไฟของประชาชนที่ลดลง
'คมกฤช' อธิบายว่า นอกจากพิจารณาปัจจัยเกี่ยวข้อง Ft ทั้งหมดแล้ว ยังจำเป็นต้องนำค่าที่ได้มาหารด้วยจำนวนหน่วยการใช้งานจริงของประชาชน เพื่อคำนวณตัวเลขออกมาเป็นค่าใช้จ่ายต่อหน่วย
ด้วยเหตุนี้ หากการใช้ไฟฟ้าของประชาชนลดลง ตัวหารก็จะลดลงตาม แม้ตัวเลขตั้งต้นจะน้อยลง แต่เมื่อตัวหารมีน้อย ค่าไฟจะไม่ถูกลงอย่างที่ประชาชนคิด โดยตามข้อมูลจาก กกพ.พบว่า หน่วยผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.และเอกชน ณ เม.ย.ลดลง 9.49% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของจีดีพียังมีผลโดยตรงต่อปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า จากการประมาณการ หากจีดีพีไทยทั้งปี ติดลบ 5.5% ความต้องการพลังงานช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะปรับลด 3.49% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
อีกด้านหนึ่ง หากจีดีพีติดลบลงไปถึง 8.8% ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าจะหดตัว 6.58% เมื่อเทียบกับ ก.ย.-ธ.ค. 2562 ทำให้ประชาชนอาจต้องเจอค่าไฟแพงอยู่ดี แม้มีความช่วยเหลือจากรัฐบาลเข้ามาพยุง
นอกจากค่า Ft ที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสะท้อนต้นทุนแท้จริง ซึ่งภาครัฐไม่มีอำนาจในการควบคุม แต่ค่าไฟฟ้าของคนไทยยังถูกกำหนดจากอีกองค์ประกอบสำคัญ อย่าง 'ไฟฟ้าฐาน' ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจในการบริหารจัดการเต็มที่
แผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จากองค์ประกอบของค่าไฟฟ้าฐาน ที่เกิดจากการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า โครงข่ายสายส่งพลังงานไปยังพื้นที่ต่างๆ ค่าบริหารจัดการของกระบวนการเกี่ยวข้อง ไปจนถึงการซื้อขายไฟระหว่างประเทศ และผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (ROIC) ของทั้ง 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.)
อีกทั้ง ปัจจุบันไทยผลิตไฟฟ้าล้นเกินถึง 38% จากระดับมาตรฐานสากลที่ 15% เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกต้นทุนรายจ่ายที่สูญเปล่า เนื่องจากไฟฟ้าส่วนเกินเหล่านั้นเป็นการผลิตขึ้นมาโดยไม่มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด แม้ค่าเฉลี่ยไฟฟ้าฐานปัจจุบันอยู่ที่ 3.76 บาท/หน่วย ซึ่งหลายฝ่ายอาจมองว่าไม่แพงมากนัก แต่ประชาชนควรทำความเข้าใจว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ จะไม่ต้องเสียเงินทิ้งเปล่า ทั้งยังอาจได้ค่าไฟที่ถูกลง
'คมกฤช' ชี้ว่า ทุกฝ่ายทราบดีว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยล้นเกินในจำนวนมาก แต่สัดส่วนเหล่านั้นมีความจำเป็นในการรักษาความมั่งคงด้านไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม การกลับมาพิจารณาตัวเลขให้ลดลงมาในระดับที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะท้ายที่สุด จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างยั่งยืน
"แต่กำลังผลิตสำรองก็ควรมีการทบทวน บางทีระบบเราแข็งแรงแล้ว หรือการใช้ไฟไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไปเยอะ ควรจะลดลงมาหน่อยไหม อาจปรับแผนการลงทุนในอนาคตเพื่อไม่ให้มีกำลังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยในส่วนของราคาด้วยเพราะว่าถ้าเราไม่ลงทุนก็จะทำให้ราคาลดลงมา แต่มันต้องแลกกับความมั่นคง จุดพอดีมันอยู่ตรงไหน ต้องมาดูกัน"
คำตอบของ กกพ.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงานให้เป็นธรรม สอดคล้องกับ 'วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู' ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ผู้รับผิดชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ซึ่งมีบทบาทหลักในการกำหนดทิศทางการลงทุนไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งยอมรับเช่นเดียวกันว่าอยู่ในจุดล้นเกิน
ผอ.กองนโยบายไฟฟ้า ชี้แจงเพิ่มเติมว่า รัฐไม่สามารถคำนวณต้นทุนโดยมองในเชิงเม็ดเงินได้อย่างเดียว เพราะการบริหารจัดการต้องมองทั้งความมั่นคง ราคา และสิ่งแวดล้อม ก่อนนำเงื่อนไขทั้งหมดมาจัดสรรให้เกิดความสมดุลของทั้ง 3 องค์ประกอบ
ปัจจุบัน จากวิกฤตโรคระบาดกับการคาดการณ์จีดีพีประเทศที่มีแนวโน้มลดลง 'วีรพัฒน์' ย้ำว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาปรับลดกำลังไฟฟ้าสำรอง อีกทั้ง ล่าสุด คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหาแนวทางในการปรับลดค่าไฟฟ้าของประชาชน แม้ยังไม่มีกรอบระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ประชาชนผู้แบกรับต้นทุนทั้งหมดของการใช้ไฟฟ้าในประเทศนี้ร่วมกันอาจไม่มีอำนาจเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการจัดทำโครงสร้างค่าไฟ ทว่าในฐานะผู้บริโภคยุคใหม่ คนไทยมีหน้าที่ศึกษาให้รู้ว่า ปัจจุบันรายจ่ายประจำทุกเดือนที่เสียไปคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ว่าเงินจำนวนนั้นจะมากหรือน้อยในสายตาตนเองก็ตาม
หมายเหตุ :บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อสารมวลชน หัวข้อ 'รายงานการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน' ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;